รู้จัก "ปันจักสีลัต" เหรียญทองแรกของทีมชาติไทยในศึกซีเกมส์ 2021

12 พ.ค. 2565 | 03:15 น.

ซีเกมส์ 2022 พามารู้จัก ปันจักสีลัต หลังทีมปันจักสีลัตลีลาชาย คว้าเหรียญทองแรกให้ทีมชาติไทยได้สำเร็จ ด้วยคะแนน 9.960

ทัพนักกีฬาทีมชาติไทย ในการแข่งขัน ซีเกมส์ 2021 ที่ประเทศเวียดนาม โดย  3 นัก "กีฬาปันจักสีลัต" คว้าเหรียญทองแรกให้ทีมชาติไทย ในการแข่งขันปันจักสีลัต ประเภทท่ารำ และเป็นเหรียญทองแรกของทัพนักกีฬาไทย ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31

"กีฬาปันจักสีลัต (Pencak Silat)" ชื่อกีฬานี้มาจากภาษาอินโดนีเซียมาจากคำว่า ปันจัก (Pencak) หมายถึงการป้องกันตนเอง และคำว่า สีลัต (Silat) หมายถึง "ศิลปะ รวมความแล้วหมายถึงศิลปะการป้องกันตนเอง

เดิมเป็นศิลปะการต่อสู้ของคนเชื้อสายมาลายู ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย คือ ปัตตานี ยะลา สตูล นราธิวาส และสงขลา เรียกว่า “สิละ” “ดีกา” หรือ “บือดีกา” เป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าเท้าเปล่า เน้นลีลาการเคลื่อนไหวที่สวยงาม 

 

เพราะดินแดนของมลายูในอดีตเคยเป็นดินแดนอาณาจักรศรีวิชัย ที่มีวัฒนธรรมอินเดียเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ จึงมีคำสันสกฤตปรากฏอยู่มาก ประวัติความเป็นมาของปันจักสีลัตนั้น มีตำนานเล่าต่อกันมาหลายตำนาน ซึ่งมีส่วนตรงกันและแตกต่างกันบ้างโดยเฉพาะต้นกำเนิดของกีฬาประเภทนี้ซึ่งเขียนขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่ได้เขียนมา อินโดนีเซียเล่าไปอย่างหนึ่ง มาเลเซียก็เล่าไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป แต่สำหรับครั้งนี้จะขอนำบทความส่วนหนึ่งที่เขียนโดย อาจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่องสิละมวยไทยมุสลิม เพื่อเป็นการศึกษาในเรื่องสิละที่ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดทางภาคใต้รู้จักกันดี

 

 

กีฬาปันจักสีลัตคือศิลปะการป้องกันตัวซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมกีฬาของชนชาวอาเซียน สำหรับในประเทศไทยนั้น จัดการแข่งขันในทุกระดับตั้งแต่กีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งประเทศไทย กีฬามหาวิทยาลัย กีฬาเยาวชนแห่งชาติ และกีฬาแห่งชาติ โดยใช้ระเบียบ-กติกาของสหพันธ์ปันจักสีลัตนานาชาติ

 

สหพันธ์ปันจักสีลัตนานาชาติตั้งอยู่ ณ นครจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้จัดให้มีการแข่งขันปันจักสีลัตชิงแชมป์โลกมาแล้ว 7 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นที่อำเภอหาดใหญ่ ประเทศไทย ปี พ.ศ.2537 มีนักกีฬาจาก 18 ประเทศเข้าร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ และกีฬาปันจักสีลัตก็ได้รับบรรจุให้มีการแข่งขันเป็นครั้งแรก ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 14 ณ นครจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ.2530 และได้มีการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในครั้งต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ครั้งล่าสุดในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 20

 

กีฬาปันจักสีลัตแบ่งออกเป็น 4 ประเภท

  • การต่อสู้ (Tanding)
  • ประเภทเดี่ยวปันจักลีลา (Tunggal)
  • ประเภทคู่ปันจักลีลา (Ganda)
  • ประเภททีมปันจักลีลา (Rega)

 

ที่มา : การกีฬาแห่งประเทศไทย