ผู้ประกันตน เฮ! ครม.ไฟเขียวหลักการ 3 ขอ เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ

10 พ.ค. 2565 | 07:18 น.

ครม.ไฟเขียวหลักการ 3 ขอ เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน "ขอเลือก" เลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ "ขอคืน" นำเงินชราภาพออกมาใช้ก่อน และ"ขอกู้" นำเงินชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินเพื่อกู้สินเชื่อได้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (10 พ.ค.65) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมที่ใช้บังคับในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของผู้ประกันตนนั้น

 

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

กระทรวงแรงงานจึงเสนอกฎหมายดังกล่าว เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันทางสังคมและได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสังคมที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น

เปิดสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ฉบับนี้ ได้แก่
 

1) การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้ 

 

2) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ อันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถ เลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ (ขอเลือก) ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ (ขอคืน) และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)

 

3) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้แก่ เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิมจ่าย 90 วัน เป็น 98 วัน เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจากเดิมจ่ายร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 กรณีสงเคราะห์บุตรให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน

4) ปรับปรุงเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และกำหนดให้เงินเพิ่มของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องไม่เกินเงินสมทบที่ต้องจ่าย

 

5) แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง กับคณะกรรมการ ทั้งในส่วนของการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง เพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการในการจำหน่าย หนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ รวมทั้งการบริหารจัดการพนักงานและลูกจ้าง

 

 6) การแก้ไขมาตรการการลงโทษ ทางอาญาแก่นายจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะความผิดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

 

“การปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมในครั้งนี้ จะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตน ได้มีหลักประกันทางสังคมและได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสังคมที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการ จากภาครัฐ รวมทั้งเป็นการจัดรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมรองรับสังคมสูงอายุอีกด้วย” นายสุชาติ กล่าวตอนท้าย