ลองโควิด อาการไหนยังไม่มียารักษา ผู้ป่วยต้องเยียวยาตัวเอง

09 พ.ค. 2565 | 03:19 น.
อัพเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2565 | 10:25 น.

ภาวะลองโควิด หลังการติดเชื้ด หลายคนยังกังวลกับอาการต่างๆ มาดูว่ามีอาการไหนที่ยังไม่มียารักษา ผู้ป่วยต้องเยียวยาตัวเอง

ลองโควิด Long Covid ปัจจุบันชี้กว่าร้อยละ 10-20 ของผู้ที่ติดเชื้อโควิด จะประสบกับกลุ่มอาการหลังโควิด  ประกอบด้วย อาการเรื้อรังมากมาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้แม้กับผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลย

อาการลองโควิด จะเริ่มขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด แบบรุนแรงเฉียบพลัน แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในลักษณะที่ต่อเนื่องจากอาการป่วยที่มีมาแต่ต้นได้ด้วย

"อาการลองโควิด" เกิดขึ้นและหายไปตามกาลเวลา ในบรรดาอาการที่พบกว่า 200 อาการ 3 อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ

  • หายใจไม่อิ่ม
  • สมองล้า
  • อ่อนเพลีย

 

3 เดือนหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด แบบรุนแรงเฉียบพลัน หากยังหายใจลำบาก สมองล้า หรืออ่อนเพลีย อาจจะกำลังประสบกับอาการลองโควิด และควรปรึกษาแพทย์

 

World Health Organization Thailand ระบุว่า ไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับอาการทั้งหมด และระยะเวลาของลองโควิด หลักฐานปัจจุบันบ่งชี้ว่า อาการลองโควิด อาจกินเวลาอย่างน้อย 2 เดือน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการนานถึง 6 เดือน 1 ปี หรือนานกว่านั้น

 

นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติของปอด อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ และภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย ลิ่มเลือด และการเสียชีวิต ในระยะเวลา 1 ปี หลังจากเริ่มมีอาการ

 

เนื่องจากลองโควิด เป็นกลุ่มอาการที่กว้างมาก และกระทบกับหลายระบบในร่างกาย จึงไม่มียา หรือวิธีรักษาเฉพาะ หากอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเอง เพื่อยกระดับสุขภาวะของตนได้

 

เช่น ลดกิจกรรมเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า หรือหายใจไม่อิ่ม และหากมีปัญหาด้านการควบคุมสมาธิ ให้ค่อย ๆ จดจ่อกับงานทีละชิ้น ถ้าหากอาการเหล่านี้กระทบต่อชีวิตอย่างมาก หรือหนักขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไป องค์การอนามัยโลกแนะนำให้พบแพทย์ ซึ่งอาจแนะนำให้เข้ารับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ