ข่าวโควิดวันนี้ เลิกตรวจ PCR นักท่องเที่ยวส่งผลยังไง คุ้มค่าหรือไม่ อ่านเลย

09 พ.ค. 2565 | 00:39 น.

ข่าวโควิดวันนี้ เลิกตรวจ PCR นักท่องเที่ยวส่งผลยังไง คุ้มค่าหรือไม่ อ่านเลยที่นี่ หมอเฉลิมชัยวิเคราะห์สถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโควิด-19

ข่าวโควิดวันนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากประชาชน ทั้งจำนวนของผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน และผู้เสียชีวิต

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ยกเลิกการตรวจ PCR นักท่องเที่ยว จะมีผลกระทบต่อจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มราว 0.4%-4%

 

หลังจากที่โลกเราได้เผชิญกับวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี จาก โควิด-19

 

ขณะนี้เมื่อผ่านไปสองปีเศษ นับจาก 31 ธันวาคม 2562 ถึง 8 พฤษภาคม 2565
ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อรวม 517 ล้านคน เสียชีวิต 6 ล้านคน ใน 228 ประเทศและเขตปกครองพิเศษ

 

ผลกระทบจากโควิด-19 เมื่อเปรียบเทียบกับไข้หวัดสเปน ซึ่งถือเป็นโรคระบาดครั้งร้ายแรงล่าสุดเมื่อ 100 ปีก่อน (พ.ศ. 2461-2463)

 

ในครั้งนั้น มีผู้ติดเชื้อประมาณการว่า 500 ล้านคน และเสียชีวิตราว 20-80 ล้านคน

 

แต่เมื่อ 100 ปีก่อน ประชากรของโลกมีน้อยกว่าขณะนี้หลายเท่าตัว จึงพอจะสรุปได้ว่า ไข้หวัดสเปนมีผลกระทบในมิติสาธารณสุขมากกว่าผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ชัดเจน

แต่ถ้าพิจารณาในมิติด้านเศรษฐกิจและมิติทางด้านสังคม จะพบว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อพลเมืองของโลกที่กว้างขวางและรุนแรงมากกว่าไข้หวัดสเปนมาก

 

สาเหตุก็มาจากปัจจัยหลายประการได้แก่

 

  • การเดินทางไปมาหาสู่กันของคนในปัจจุบัน ทำได้กว้างขวางและรวดเร็วกว่าเดิมมาก
  • ประเทศต่างๆเริ่มมีสัดส่วนของรายได้จากภาคบริการเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับภาคผลิตสินค้า จึงทำให้พึ่งพารายได้จากภาคบริการอันหมายรวมถึงการท่องเที่ยวมากขึ้น
  • วิถีชีวิตของสังคมปัจจุบัน ผู้คนมีลักษณะปฏิสัมพันธ์กับคนนอกบ้าน นอกชุมชนมากขึ้น

 

จึงทำให้เมื่อเกิดโรคระบาดในยุคปัจจุบัน ผลกระทบที่มีต่อมิติด้านเศรษฐกิจจึงรุนแรงมากกว่าในสมัยก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศซึ่งมีรายได้จากภาคบริการเป็นหลัก

 

ข่าวโควิดวันนี้ เลิกตรวจ PCR นักท่องเที่ยวส่งผลยังไง

 

นอกจากนั้นยังมีผลกระทบมิติทางด้านสังคมของมนุษย์อย่างมากด้วย

 

ทำให้ผู้คนเกิดความเครียด มีความทุกข์ จากการที่ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติ อันหมายรวมถึงการเดินทางท่องเที่ยว การพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย การทานอาหารนอกบ้าน การหาความบันเทิงจากการชมภาพยนตร์ การแสดงคอนเสิร์ต กีฬาต่างๆ รวมไปถึงการไปเยี่ยมเยียนญาติสนิทมิตรสหาย ที่ถูกจำกัดลงอย่างมาก

 

ทุกประเทศได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงโดยตรงว่า การบริหารจัดการให้ผู้คนสามารถดำเนินชีวิตไปได้ ในสภาวะที่มีโควิด-19 ระบาด อย่างพอเหมาะพอดีนั้น คือมีสมดุลระหว่างมิติทางด้านสาธารณสุข มิติทางด้านเศรษฐกิจ และมิติทางด้านสังคม เป็นไปได้อย่างยากลำบาก

และยากยิ่งขึ้นไปอีก ในการที่จะทำให้ผู้คนจำนวนมากในประเทศนั้นเห็นพ้องต้องกันกับนโยบายหรือมาตรการต่างๆ

 

จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้ ทั้งทางด้านการแพทย์/สาธารณสุข ทางด้านเศรษฐกิจ และทางด้านสังคม มาประกอบกัน

 

แล้วกำหนดนโยบายหรือออกมาตรการ โดยที่เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย พอยอมรับได้ และเข้าใจในเสียงส่วนน้อยที่เห็นต่างและไม่ยอมรับ

 

แล้วทั้งสังคมก็เดินหน้าไปด้วยกัน โดยใช้ความรู้ ใช้สถิติข้อมูลต่างๆ อย่างพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายและมาตรการต่างๆให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของโควิดที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ในโลกเราจึงพบกลุ่มประเทศที่ออกนโยบายและมาตรการต่างๆที่แตกต่างกันไป ได้แก่

 

  • กลุ่มที่เน้นเศรษฐกิจมากหน่อย และยอมรับให้มีปัญหาทางสาธารณสุขบ้างพอสมควร เช่นประเทศตะวันตกในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
  • กลุ่มที่เน้นมิติทางด้านสาธารณสุขมากหน่อย และยอมรับให้มีปัญหาในมิติทางด้านเศรษฐกิจสังคมบ้างพอสมควร เช่น ประเทศในแถบโลกตะวันออก รวมทั้งประเทศไทย
  • เน้นมิติทางด้านสาธารณสุขอย่างเข้มข้น และค่อยไปแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเกิดผลกระทบรุนแรงให้ดีขึ้น เช่น ประเทศจีน (ในอดีตเคยมีประเทศนิวซีแลนด์ร่วมด้วย)

 

จนในสถานการณ์ล่าสุด นับจากเริ่มต้นด้วยไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นหรือสายพันธุ์เดิม มาเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า เดลตา

 

และปัจจุบันเป็นโอมิครอน ซึ่งมีการติดเชื้อได้รวดเร็วกว้างขวาง แต่ความรุนแรงน้อยลงกว่าเดิม

 

หลากหลายประเทศทางซีกโลกตะวันตกจึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการทางด้านสาธารณสุขลง เพื่อขยับมิติทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้เดินหน้าไปได้ พร้อมยอมรับผลกระทบจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง

 

โดยที่ยังเหลือประเทศจีนเพียงประเทศเดียว ที่ยังเน้นนโยบายสาธารณสุขเป็นหลัก หรือ Zero Covid-19

 

ข่าวโควิดวันนี้ เลิกตรวจ PCR นักท่องเที่ยวส่งผลยังไง

 

สำหรับประเทศไทยเรา ได้มีพัฒนาการของนโยบายต่างๆ มาเป็นลำดับ และมาตรการต่างๆก็จะสอดคล้องกับนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของโควิดได้แก่

 

1.ระลอกที่หนึ่ง ช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2563 เน้นมิติทางด้านสาธารณสุขเข้มข้น มีการล็อกดาวน์ เพราะทั่วโลกในขณะนั้น ยังมีความรู้เกี่ยวกับโควิดค่อนข้างน้อย รวมทั้งยังไม่มีวัคซีนและยารักษาโรคที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล

 

ทำให้เราสามารถคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ที่ 4000 ราย เสียชีวิต 60 ราย คิดเป็น 1.5% โดยมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างมาก

 

2.ระลอกที่สอง ช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564 ยังคงเน้นมิติทางด้านสาธารณสุขเป็นหลัก แต่มีความเข้มข้นน้อยลง ไม่มีการล็อกดาวน์แบบเต็มรูปแบบ

 

ทั้งนี้เพื่อประคองไม่ให้กระทบมิติทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมากเกินไป
จึงทำให้พบผู้ติดเชื้อในระลอกนี้เพิ่มขึ้น 6 เท่า คือ 24,863 ราย เสียชีวิต 34 ราย คิดเป็น 0.14%

 

3.ระลอกที่สาม ช่วงเดือนเมษายนถึงธันวาคม 2564 เป็นไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อัลฟ่าและตามด้วยสายพันธ์ุเดลตา

 

ซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดกว้างขวางมากขึ้น และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย

 

ประเทศไทยใช้รูปแบบเน้นมิติสาธารณสุขเป็นหลัก แต่ไม่เข้มข้นเท่าเดิม ทั้งนี้เพื่อประคองมิติทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบมากและต่อเนื่องมาจาก 2 ระลอกแรก

 

ผลคือมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าตัว จำนวน 2,194,572 ราย เสียชีวิต 21,604 ราย คิดเป็น 0.9%

 

ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนจำนวนมาก ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคม พอจะอยู่ได้ เนื่องจากความสามารถของประชาชน ในการรับมือกับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมลดลงตามลำดับ

 

ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก เนื่องจากความเรื้อรังของโควิด-19 ที่ยาวนานมากราว 2 ปีแล้ว

 

4.ระลอกที่สี่ ช่วงเดือนมกราคม 2565 ถึงปัจจุบัน เป็นไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่เร็วกว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตา 4-8 เท่า แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า 5-10 เท่า
ทำให้หลายประเทศเลือกที่จะผ่อนคลายมิติทางสาธารณสุขเพิ่มเติม โดยยอมรับผลกระทบของจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่อาจเพิ่มขึ้น เพื่อเยียวยามิติทางด้านเศรษฐกิจและสังคมซึ่งอ่อนล้าลงเป็นลำดับ

 

ท่ามกลางช่วงเวลาที่เริ่มมีวัคซีนปริมาณมากพอ  มีผลข้างเคียงในระดับที่ยอมรับได้ ตลอดจนมียารักษาโรคที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น

 

รวมทั้งประชาชนมีองค์ความรู้ มีความเข้าใจเรื่องลองโควิด และการลดลงของภูมิคุ้มกันทั้งจากการติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน

 

ในแต่ละประเทศ ซึ่งมีค่านิยม ความเชื่อ วินัยของประชาชนที่แตกต่างกัน มีสัดส่วนของรายได้จากภาคบริการต่อภาคสินค้าที่แตกต่างกัน

 

รวมทั้งความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องจีดีพี  เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หนี้สาธารณะ เงินออมของประชาชน และหนี้สินครัวเรือน

 

จึงทำให้ประเทศต่างๆมีมาตรการที่ออกมาในการรับมือโควิด-19 ที่แตกต่างกันออกไป

 

กล่าวสำหรับประเทศไทยเรา มีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจดังนี้

 

  • ประชาชนมีวินัยให้ความร่วมมือในการป้องกันโรคระบาดอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ทั้งทางด้านการใส่หน้ากากอนามัย ความยอมรับต่อการฉีดวัคซีน
  • ระบบสาธารณสุขไทย ได้รับการออกแบบและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปี จึงทำให้มีความสามารถในการรับมือโรคระบาดได้ดีจนอยู่ในระดับท็อปเท็นของโลก
  • บุคลากรทางสาธารณสุขและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีความพร้อมในหลากหลายด้าน ที่จะรับมือโควิด
  • ระบบเศรษฐกิจ ไทยพึ่งพารายได้จากภาคบริการสูงขึ้น เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อภาคผลิตสินค้า

 

โดยเฉพาะการท่องเที่ยวได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยก่อนเกิดโควิด ไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวหลายสิบล้านคน คิดเป็นเงินจำนวนนับล้านล้านบาท

 

จึงทำให้ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย และออกมาตรการภายใต้นโยบายที่ปรับเปลี่ยนนั้น เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ โควิด-19 ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างเหมาะสม

 

จึงมีหลากหลายมาตรการที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ในที่นี้ขอยกมาตรการที่น่าสนใจต่อสาธารณะมาพิจารณา ได้แก่

 

มาตรการยกเลิกการตรวจ PCR สำหรับนักท่องเที่ยวและคนต่างชาติที่จะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย โดยมาตรการการดังกล่าว ยกเว้นการตรวจเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มีการฉีดวัคซีนครบถ้วนเท่านั้น

 

ข่าวโควิดวันนี้ เลิกตรวจ PCR นักท่องเที่ยวส่งผลยังไง

 

มาตรการดังกล่าวจะมีผลกระทบดังนี้

 

1.มิติทางด้านเศรษฐกิจ คาดว่าจะมีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทย มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น ทำให้เรามีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
อันจะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจไปสู่ส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเช่น โรงแรม สายการบิน บริษัททัวร์ มัคคุเทศก์ คนขับรถทัวร์ รถตู้ แท็กซี่ ร้านอาหาร สถานบันเทิง ร้านขายของที่ระลึก

 

โดยเงินต่างๆที่เข้าสู่คนกลุ่มนี้ ก็จะหมุนเวียนออกจากคนกลุ่มดังกล่าวผ่านการใช้จ่ายประจำวัน ไปสู่คนไทยกลุ่มอื่นในวงกว้างต่อไป

 

2.มิติทางด้านสาธารณสุข ย่อมจะเกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ แม้ฉีดวัคซีนครบก็จะสามารถผ่านเข้าสู่ประเทศไทยและใช้ชีวิตเดินทางท่องเที่ยวต่อไปได้ อันอาจส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้

 

เพื่อประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงของมิติสาธารณสุขดังกล่าว ผู้เขียนจึงลองวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลสาธารณะอย่างง่าย ซึ่งมีการรายงานอยู่แล้วทุกวันดังนี้
โควิดระลอกที่ 4 ในช่วง 1 มกราคมถึง 8 พฤษภาคม 2565 รวม 128 วัน
พบผู้ติดเชื้อโดยวิธีตรวจ PCR 2,101,415 ราย คิดเป็นค่าเฉลี่ย 16,417 รายต่อวัน

 

โดยมีผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในนักท่องเที่ยวหรือคนเดินทางมาจากต่างประเทศจำนวน 16,815 ราย เฉลี่ยวันละ 131 ราย คิดเป็น 0.80%

 

แต่ถ้าคิดเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน 2565 ผู้ติดเชื้อ PCR รวม 622,602 ราย เฉลี่ยวันละ 20,753 ราย

 

ในขณะที่ตรวจ PCR พบในผู้เดินทางจากต่างประเทศรวม 2214 ราย เฉลี่ยวันละ 76 ราย คิดเป็น 0.4% ของผู้ติดเชื้อ PCR ทั้งหมด

 

ดังนั้นถ้าเราไม่ได้ตรวจ PCR นักท่องเที่ยว ก็จะมีผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย 76 รายต่อวัน หรือเพียง 0.4%

 

ในขณะที่ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยแต่ละวันอีกจำนวน 99.6% จะเป็นกรณีที่คนไทยติดเชื้อกันเอง

 

และคาดได้ว่า ถ้ามาตรการดังกล่าวเป็นผลดี จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัวจากปัจจุบัน

 

อัตราของนักท่องเที่ยวที่จะนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย ก็จะเพิ่มจาก 0.4% เป็น 4%  ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ที่หลายฝ่ายคิดว่าพอยอมรับได้

 

และเนื่องจากไวรัสในต่างประเทศและในประเทศไทยขณะนี้ เป็นสายพันธุ์เดียวกันคือ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ 2 จึงจะไม่เกิดเหตุการณ์มีการนำไวรัสสายพันธุ์ใหม่เข้ามาสู่ประเทศไทย

 

ยิ่งถ้าได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดว่า มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นในประเทศใด แล้วก็รีบสั่งห้ามคนจากประเทศนั้นเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยด้วย ก็จะสามารถลดความเสี่ยงสำหรับการเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทยได้

 

ส่วนความคุ้มค่า หรือความเหมาะสมของมาตรการดังกล่าว ก็แล้วแต่มุมมองและความเกี่ยวข้องของประชาชนแต่ละคนว่า ได้รับผลกระทบจากมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสสาธารณสุขมากน้อยอย่างไร