ข่าวโควิดวันนี้ ทำไมผู้ติดเชื้อต่ำกว่าความจริง ป่วยจริงคือเท่าใด อ่านเลย

08 พ.ค. 2565 | 00:39 น.

ข่าวโควิดวันนี้ ทำไมผู้ติดเชื้อต่ำกว่าความจริง ป่วยจริงคือเท่าใด อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยชี้ยังมีผู้ติดโควิด แต่ไม่ได้ตรวจหรือไม่ได้รายงาน

ข่าวโควิดวันนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากประชาชน ทั้งจำนวนของผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน และผู้เสียชีวิต

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

คาดไทยมีผู้ติดโควิด-19 (Covid-19) แต่ไม่ได้ตรวจหรือไม่ได้รายงาน อีกอย่างน้อย 1 เท่าตัวของที่มีการรายงานทุกวัน

 

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด ซึ่งประเทศต่างๆทั่วโลก จะมีการรายงานสถิติเป็นระยะนั้น

 

สำหรับประเทศไทย มีการรายงานสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อให้ประชาชนได้ทราบสถานการณ์และแนวโน้ม จะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

 

การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อดังกล่าว จะต่ำกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจริงอยู่มากพอสมควร แต่ก็ยังไม่มีวิธีการตรวจสอบที่ชัดเจนแม่นยำพอว่า 

 

มีผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้รายงานอีกจำนวนเท่าใด เพราะดำเนินการพิสูจน์ทราบได้ค่อนข้างลำบาก

สาเหตุหลัก ที่ยอดรายงานผู้ติดเชื้อต่ำกว่าความเป็นจริง อาจเกิดได้จาก

 

  • เนื่องจากไวรัสโอมิครอน (Omicron) เมื่อติดเชื้อแล้ว มักจะมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ จึงไม่ค่อยได้เดินทางมาตรวจ PCR ในโรงพยาบาลเหมือนสมัยที่เป็นไวรัสเดลตา
  • ผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย เมื่อตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้ว พบว่าเป็นบวก ส่วนหนึ่งก็กักตัวเองและซื้อยาทานเอง จึงไม่มีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบ
  • ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ก็จะไม่ได้สงสัยว่าตนเองติดเชื้อ จึงไม่ได้ตรวจ ATK

 

วันนี้เราจะลองมาวิเคราะห์ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจริงขั้นต่ำน้อยที่สุดที่น่าจะเป็นนั้น คือจำนวนเท่าใด และมีมากกว่าจำนวนที่รายงานทุกวันอยู่มากน้อยเพียงใด
โดยเริ่มต้นจากหลักการว่า

 

ข่าวโควิดวันนี้ ทำไมผู้ติดเชื้อต่ำกว่าความจริง

 

  • จำนวนผู้ป่วยหนักที่มีอาการปอดอักเสบ จะเป็นสถิติที่มีความแม่นยำใกล้เคียงความจริงมากที่สุด เพราะเมื่อติดโควิดจนลงปอด หายใจไม่ได้แล้ว ทุกรายก็จะเข้าโรงพยาบาล
  • จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด เดิมมีความแม่นยำค่อนข้างสูงใกล้เคียงกับผู้ป่วยหนักมีอาการปอดอักเสบ แต่ในปัจจุบันหลัง 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา มีการเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ให้มีความถูกต้องเหมาะสมทางวิชาการมากขึ้น แต่ทำให้ไม่สามารถนำกลับไปเปรียบเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงก่อนหน้านี้ได้ จึงถือว่ามีความแม่นยำในการเปรียบเทียบลดลง
  • จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งชนิดตรวจแบบ PCR และ ATK มีความแม่นยำน้อยที่สุด แม้จะบอกแนวโน้มได้ก็ตาม

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อลองดูเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของสถิติต่างๆในเดือนเมษายน 2565 (1-30 เมษายน) กับสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2565 (1-7 พฤษภาคม ) พบรายละเอียดดังนี้

 

1.ผู้ป่วยหนักที่มีอาการปอดอักเสบลดลง 13% 

  • จาก 1936 รายต่อวัน
  • เป็น 1678 รายต่อวัน

 

2.ผู้ติดเชื้อตรวจแบบ PCR 

  • ลดลง 55% จาก 20,753 รายต่อวัน
  • เป็น 9402 รายต่อวัน

 

3.ผู้ติดเชื้อตรวจแบบ ATK 

  • ลดลง 50% จาก 16,019 รายต่อวัน
  • เป็น 7972 รายต่อวัน

 

เมื่อเป็นที่ทราบแล้วว่า สถิติผู้ป่วยหนักมีความแม่นยำมากกว่า จึงนำสถิติผู้ป่วยหนักที่ลดลงในช่วงขาลง 13% มาใช้กับผู้ติดเชื้อแบบ PCR และ ATK ด้วย เพื่อทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

 

จึงทำให้ประมาณการได้ว่า

 

ผู้ติดเชื้อ PCR 

 

  • ขณะนี้น่าจะอยู่ที่วันละ 18,055 รายแต่มีรายงานเฉลี่ยวันละ 9402 ราย
  • ต่างกันราว 1 เท่าตัว

 

ส่วนผู้ติดเชื้อแบบ ATK 

 

  • ขณะนี้น่าจะอยู่ที่วันละ 13,936 ราย
  • แต่จำนวนรายงานคือ 7972 ราย

 

จึงสรุปได้ว่าผู้ติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิดจริง ในจำนวนขั้นต่ำน้อยที่สุดที่น่าจะเป็น จะมีจำนวนเป็น 2 เท่าหรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จากตัวเลขที่มีรายงานอยู่ทุกวัน

 

ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ทำให้ทุกคนต้องตระหนักและพึงระมัดระวังว่า ยังมีผู้ติดเชื้อที่ตัวเองก็ไม่ทราบ หรือเป็นผู้ติดเชื้อที่ตนเองทราบแต่อาการน้อย ยังออกมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยไม่ได้ระมัดระวัง พร้อมที่จะแพร่เชื้อให้คนอื่นอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยอีก หนึ่งเท่าตัวของจำนวนที่มีการรายงานต่อวัน

 

การใส่หน้ากากอนามัย ในสถานที่ที่เสี่ยง และในลักษณะพฤติกรรมหรือกิจกรรมเสี่ยง จึงยังมีความจำเป็น  ตลอดจนควรดำเนินการควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3

 

ก็จะทำให้โควิดของประเทศไทยสามารถอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง และเข้าสู่การเป็นโรคติดต่อทั่วไปในอนาคตอันใกล้นี้ได้