ตำรวจแก้หนี้เชิงรุก คืบหน้าแล้ว 2,000 ราย กลุ่มสีแดงหนี้ท่วมขั้นวิกฤต

03 พ.ค. 2565 | 11:24 น.

ตำรวจเปิดสูตรแก้หนี้ ผบ.ตร.เผยกลุ่มสีแดงหนี้ท่วมขั้นวิกฤตคืบหน้าแล้ว 2,000ราย ตั้งเป้าปลดหนี้ผู้ใต้บังคับบัญชา 3 แสนล้านบาท ยกเคส ช่วย ‘ตร.หญิง’ พ้นภาระค้ำประกัน

พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ เปิดสูตรแก้หนี้ตำรวจ ตั้งเป้าปลดหนี้ 3 แสนล้านบาท แก้แล้ว 2,000 ราย กลุ่มสีแดงหนี้ท่วมขั้นวิกฤต ยกเคส ตร.หญิง หนี้ 1.8 ล้านบาท จากการค้ำประกัน เล่าโครงการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน พร้อมไอเดีย “สร้างแบรนด์” เพิ่มรายได้ครอบครัวตำรวจ

 

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาหนี้สินของข้าราชการตำรวจ โดยระบุว่า  เรื่องงานบริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ฝากเป็นการบ้านให้กับผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติรุ่นต่อไป

“ในด้านการบริหารจะมีเรื่องแก้ปัญหาหนี้สินตำรวจ สร้างบ้านพักสวัสดิการ อยากให้ทำต่อเนื่อง  โดยเฉพาะเรื่องหนี้ตำรวจ หลังจากรวมหลายรอบพบว่าตำรวจมีหนี้ 300,000 กว่าล้านบาท โดยแก้ปัญหาไปได้แล้ว 2,000 กว่าราย”

 

พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ เผยว่า จากการสำรวจระดับหนี้ของข้าราชการตำรวจ พบว่า กว่า 97% เป็นสีเขียว คืออยู่ในวิสัยที่ยังผ่อนได้ 2% สีส้ม คือร่อแร่ และ 1% สีแดงที่เข้าขั้นวิกฤต ตอนนี้ความเร่งด่วนคือแก้ปัญหากลุ่มสีแดง ซึ่งกลุ่มนี้ช่วยแก้ปัญหาไปแล้ว 2,000 ราย

 

อย่างไรก็ตาม  ที่ผ่านมา  คุณรัตนาภรณ์ สีวลีพันธ์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ มาเล่าให้ฟังว่า มีตำรวจหญิงคนหนึ่งมาเล่าให้ฟัง ดีใจจะร้องไห้บอกว่า เป็นหนี้อยู่ 1.8 ล้านบาท หนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ แต่เกิดจากการไปค้ำประกัน พอมีโครงการแก้ปัญหาหนี้ จึงสมัครเข้าโครงการ จึงช่วยกันเจรจาปรับดอกเบี้ย ตัดลงไปเหลือ 400,000 บาท 

“หลัก ๆ ของเราคือการทำรีไฟแนนซ์ สมมติว่าต้นทุนเงินกู้แพง ดอกเบี้ยเงินกู้ก็ต้องแพง โดยต้องดูดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ว่าเท่าไหร่ ถ้าดอกเบี้ยเงินฝากแพง แสดงว่าต้นทุนแพง เขาจะมาให้กู้ดอกเบี้ยถูก เป็นไปไม่ได้ เราก็พยายามหาสหกรณ์ที่อยากมาเข้าโครงการของเราเพื่อช่วยเหลือตำรวจ โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล สมัครเป็นสหกรณ์ต้นแบบ อาจจะแก้ปัญหาแรก ๆ ก่อน รายที่มีหนี้ท่วมมาก ๆ อาจทำรีไฟแนนซ์ให้เฉพาะรายนั้นไป”

 

ธนาคารออมสินเขายินดีมาช่วยเรา ดอกเบี้ยเขาไม่เกิน 2 บาท สมมุติต้นทุนมาไม่เกิน 2 บาท ถ้าเราปล่อยสัก 4 บาท สหกรณ์ก็ยังอยู่ได้ แทนที่จะ 7 - 8 บาท แต่อย่างนี้ จะทำทุกคนไม่ได้ มันจำกัด และด้วยสัญญาเดิมที่มีต้นทุนเก่า เพราะฉะนั้นต้องค่อย ๆ ถ่ายเทกันไป ส่วนสหกรณ์ไม่ได้อยู่ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขาเป็นอิสระ เขามีการเลือกตั้งประธานสหกรณ์ บางทีเป็นตำรวจที่เกษียณแล้ว จึงอยู่ที่การเจรจา” ผบ.ตร. เผยวิธีแก้ปัญหาหนี้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชา

 

พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ย้ำถึงการแก้หนี้ว่า ขอให้ผู้บริหาร ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ เข้าใจหลักการ แล้วก็เอาหลักการไปประยุกต์ใช้เป็นราย ๆ ไป ไปคุยกับเจ้าหนี้ให้ลูกน้อง แต่เป้าหมายของเราไม่ใช่ 1 - 2% เป้าหมายเราคือ 97% กับเป้าหมายที่ 2 คือ คนที่ไม่ได้อยู่ใน 100% นี้ ที่เป็นตำรวจเข้าใหม่

สำหรับ “ตำรวจเข้าใหม่” ใช้วิธีการสร้างภูมิคุ้มกันหนี้ ให้วัคซีนทางการเงิน ป้องกันการสร้างหนี้

“ตอนนี้ สมาคมแม่บ้านตำรวจไปให้ความรู้เกี่ยวกับการออม การบริหาร การใช้เงิน โครงการ Money Management & Investment เสียงตอบรับดี แล้วก็พยายามขยายไปทุก ๆ หลักสูตรการศึกษาของตำรวจ”

 

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)ยังได้ยกตัวอย่าง ไอเดียการบริหารเงินที่ได้จากวิทยากรในโครงการ Money Management & Investment โดยระบุว่า “ทางผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถ้าคุณเก็บเงินวันนี้เดือนละ 2,000 บาทเป็นเวลา 7 ปี แต่ละปีหาผลตอบแทนให้ได้ 10% เมื่อครบ 7 ปีหยุด   แค่นี้ไม่ต้องใช้อะไรเลย เวลาเกษียณเงินก้อนนี้จะกลายเป็น 10 ล้านบาท เขาพยายามอธิบายให้ฟัง เราพยายามให้ความรู้เรื่องพวกนี้กับเจ้าหน้าที่เรา เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เขา แต่ถ้าเขาไม่ไหวจริง ๆ กระโดดเข้ามาในระบบสินเชื่อ มันก็ต้องไม่ใช่ราคาสินเชื่อที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นสหกรณ์ ก็ต้องใช้เวลาปรับตัว เพื่อลดต้นทุนของตัวเองมาให้ได้ ไปถึงจุดที่สามารถดูแลข้าราชการตำรวจในต้นทุนที่ต่ำ ๆ ได้ ซึ่งต้องทำไปเรื่อย ๆ” ผบ.ตร. กล่าว

 

พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ เล่าเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากแก้หนี้ สร้างภูมิคุ้มกันสำหรับคนที่ยังไม่เป็นหนี้ อีกแนวทางในการแก้ปัญหาทางการเงินของตำรวจ คือการส่งเสริมให้ตำรวจและครอบครัวมีอาชีพเสริม

 

“เราพยายามส่งเสริมอาชีพ ตอนที่ทำแบบสำรวจ อันดับแรกเขาอยากได้อาชีพเสริมของครอบครัว เรามองว่าสินค้าของตำรวจที่ทำกันเองตามชุมชนต่าง ๆ ก็พอมีอยู่บ้าง ถ้ามีการปรับปรุงให้มีมาตรฐานสูงขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ก็อาจทำให้ขายได้ดีขึ้น”

 

“อีกอย่างคือช่องทางจำหน่าย ทางสมาคมแม่บ้านตำรวจทำร้านปันรักษ์ขึ้นมา โดยสมาคมแม่บ้านตำรวจจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเพื่อความโปร่งใสในการจัดการ เราก็อยากเห็นร้านค้าที่ขายของครอบครัวตำรวจทั่วประเทศ อันนี้จะต้องมีสินค้าชูโรง เพื่อให้มันเกิดขึ้นได้จริง ตอนนี้ดูที่มีศักยภาพเป็นไปได้ที่สุด คือเมล็ดกาแฟจากดอยสามหมื่น ซึ่งเป็นเมล็ดกาแฟพันธุ์พระราชทาน ที่ ตชด. ทำอยู่ ได้การสนับสนุนจากบริษัทใหญ่ ๆ ในประเทศ มาพัฒนาเรื่องการคัดเลือกเมล็ดกาแฟ การเก็บรักษา การคั่ว การบรรจุภัณฑ์ให้ เพื่อให้ถูกมาตรฐาน ครู ตชด. ปลูกมาเรื่อย ๆ สินค้าต้องมีเรื่องราว แหล่งกำเนิด ต้องมีสตอรี่ ให้คนเขารู้ เป็นลักษณะวิธีการค้า เราใช้แบรนด์ปันรักษ์เลย เราจดเครื่องหมายการค้าเอาไว้แล้ว ถ้าทำได้ก็จะเปิดร้านกาแฟแบบนี้ทั้งประเทศ”

 

ผบ.ตร. บอกถึงเป้าหมายว่า ร้านปันรักษ์ อย่างน้อยต้องมี 1 - 2 ร้าน เปิดก่อนเราเกษียณฯ ร้านเราต้องมีคุณภาพ มีมาตรฐานรวมถึงอาจเปิดเป็นช่องทางสำหรับสร้างอาชีพให้ครอบครัวตำรวจ อาทิ เป็นจุดรับติดต่อบริการซ่อมเครื่องปรับอากาศโดยลูกตำรวจ เป็นต้น