ป่วย “มะเร็งเต้านม” มีวิธีการรักษาอย่างไร

03 พ.ค. 2565 | 07:20 น.

เปิดวิธีรักษา “มะเร็งเต้านม” ภัยร้ายอันตรายถึงชีวิต ย้ำตรวจคัดกรองเองได้ สงสัยพบแพทย์ พบเร็ว รักษาง่าย หายขาดได้ ไม่กลับมาเป็นซ้ำ

มะเร็งเต้านม” ภัยเงียบที่อาจอันตรายถึงชีวิตได้ หากตรวจพบเมื่อสายไป ดังนั้นการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม รวมถึงการรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์หากพบอาการผิดปกติ ถือเป็นการลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมได้

 

“พญ.วีรนุช รัตนเดช” อายุรแพทย์โรคมะเร็ง ประจำศูนย์มะเร็งพิษณุเวชฮอไรซัน โรงพยาบาลพิษณุเวช ในเครือพริ้นซิเพิลเฮลท์แคร์ ด้วยความร่วมมือกับบำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก เผยข้อสงสัยและข้อมูลการตรวจคัดกรอง และการรักษาโรคมะเร็งเต้านม หากเราตรวจพบมะเร็งเต้านม ขั้นตอนการรักษาแรกคืออะไร?

 

หลังจากการตรวจพบก้อนที่เต้านมด้วยตัวเอง หรืออาจเป็นการตรวจพบจากการตรวจคัดกรองด้วยการทำแมมโมแกรมก็ตาม ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจยืนยันวินิจฉัยด้วยการเอาชิ้นเนื้อออกมาตรวจ  เพื่อยืนยันว่าก้อนที่พบดังกล่าวคือเซลล์มะเร็งเต้านม   จากนั้นแพทย์จะทำการวินิจฉัยว่ามะเร็งเต้านมนั้นอยู่ในระยะใด

มะเร็งเต้านม

“มะเร็งเต้านม” สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะหลักๆ ได้แก่

 

  • ระยะเริ่มต้น: ตัวโรคยังอยู่บริเวณเต้านมเป็นหลัก สามารถทำการผ่าตัดรักษา และมีโอกาสหายขาดสูงมาก
  • ระยะลุกลาม: ตัวโรคมีการกระจายไปยังบริเวณต่อมนำ้เหลืองข้างเคียง การรักษาอาจมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยอาจจะมีการรักษาด้วยการให้ยา การผ่าตัด และการฉายแสง
  • ระยะกระจาย: ตัวโรคมีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆนอกเต้านม การรักษาจะใช้ยาเป็นหลักในการรักษา

 

ปกติแล้ว วิธีการรักษาจะขึ้นกับลักษณะชิ้นเนื้อและระยะของโรคมะเร็งเต้านมเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น ในระยะเริ่มต้น การรักษาสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเป็นหลัก และอาจมีการรักษาอื่นๆ เช่น การให้ยาเคมีบำบัด การให้ยาต้านฮอร์โมน การให้ยามุ่งเป้า หรือการฉายแสง เข้ามาเสริม เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านม

 

ปัจจุบันมีการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านมหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโดยการผ่าตัดเต้านมทั้งเต้า การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม หรือการผ่าตัดและเสริมเต้านมไปในเวลาเดียวกัน เพื่อเป็นการคงภาพลักษณ์ความงามซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อจิตใจ

 

สำหรับการผ่าตัด สิ่งที่ถูกนำเอาออกไปคืออะไร?

หลักๆ ต้องผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออกให้ได้ทั้งหมด ไม่เหลือแม้แต่เซลล์เล็กเซลล์น้อย โดยก้อนมะเร็งอาจมีขนาดตั้งแต่ระดับมิลลิเมตร ไปจนถึงขนาดหลายเซนติเมตร หากวินิจฉัยพบจากการตรวจคัดกรอง โดยมากก้อนมะเร็งมักจะยังมีขนาดเล็ก ซึ่งจะสามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้โดยง่าย

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมาตรวจตอนที่เริ่มมีอาการ เช่นเริ่มคลำก้อนได้เองแล้ว โดยมากก้อนมะเร็งจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่  ซึ่งอาจจะทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากขึ้น

มะเร็งเต้านม

กรณีไหนที่ต้องทำการรักษาโดยการตัดเต้านมทิ้ง?

หากก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก และยังไม่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ศัลยแพทย์ก็จะสามารถทำการผ่าตัดรักษาแบบสงวนเต้านมได้ แต่หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่หรือมีการกระจายไปต่อมนำ้เหลืองข้างเคียงแล้ว ก็จะมีการให้ยาเคมีบำบัดก่อน เพื่อให้ก้อนมีขนาดเล็กลง และทำให้ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดได้โดยง่ายขึ้น

 

หรือแม้กระทั่งสามารถทำการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีข้อจำกัดอื่นๆที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องตัดเต้านมทั้งเต้า ทั้งนี้ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์เป็นหลัก

 

หลังเข้ารับการผ่าตัด ต้องทำการรักษาอะไรต่อหรือไม่?

หลังจากเข้ารับการผ่าตัดแล้ว แพทย์จะต้องทำการวิเคราะห์ลักษณะของก้อนมะเร็งที่ผ่าตัดออกมา ว่าคนไข้รายนั้นๆ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาเสริมด้วยอะไรบ้าง เช่น มีความจำเป็นต้องได้รับยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน ยามุ่งเป้า หรือการฉายแสงหรือไม่ 

 

ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล เนื่องจากแพทย์จำเป็นต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ ลักษณะของมะเร็ง อายุของคนไข้ สภาพความแข็งแรงของร่างกาย โรคประจำตัว เพื่อนำมาพิจารณาว่าคนไข้คนใดเหมาะสมกับการรักษาเสริมแบบใด

 

กรณีที่เซลล์มะเร็งลุกลามแล้ว สามารถทำการรักษาได้อย่างไร?

กรณีที่โรคลุกลามเฉพาะที่ เช่นก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ หรือกระจายไปต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงค่อนข้างเยอะ การรักษาอาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้น แพทย์จะต้องทำการประเมินว่าควรให้การรักษารูปแบบใด หรือวิธีใดก่อน ยกตัวอย่างเช่น หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มาก อาจจะต้องให้ยาเพื่อให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงก่อน แล้วจึงทำการผ่าตัด เป็นต้น

 

กรณีที่โรคมะเร็งลุกลามไปที่อวัยวะอื่น ๆ การรักษาอาจจะไม่สามารถทำให้ตัวโรคหายขาดได้ แต่การรักษาจะมุ่งหวังให้คนไข้ทุเลาอาการจากตัวโรค และสามารถมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยการรักษาก็มีหลายวิธี เช่น การใช้ยาเคมีบำบัด  ยาต้านฮอร์โมน  ยามุ่งเป้า  การฉายแสง ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ว่าการรักษาใดเหมาะสมที่สุดในขณะนั้น

 

กระบวนการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ใช้เวลานานเท่าไร?

ปัจจุบัน เนื่องจากว่าเรามีแนวทางการรักษาหลายแบบ ทำให้เวลาในการรักษาแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล และระยะของโรค ขึ้นกับว่าคนไข้แต่ละคนจำเป็นต้องได้รับการรักษาชนิดใดบ้าง ตัวอย่างเช่น  มะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น หลังทำการผ่าตัดแล้ว

 

หากคนไข้มีความจำเป็นต้องรับการรักษาต่อโดยการใช้เคมีบำบัด ต้องใช้เวลาในการให้ยา  3 - 6 เดือน หลังจากนั้นถ้ามีความจำเป็นต้องเข้ารับการฉายแสง ก็ต้องใช้เวลาในการฉายแสงต่ออีก 1-2 เดือน และถ้าจำเป็นต้องได้รับยาต้านฮอร์โมน ก็ต้องกินยาไปอีกประมาณ 5 ปีเป็นต้น

 

หลังการรักษา มีการติดตามโรคอย่างไร มีโอกาสเกิดซ้ำหรือไม่?

แพทย์จะนัดติดตามอาการอย่างน้อยเป็นเวลาประมาณ 5 ปี หลังจากนั้นอาจจะนัดดูห่างๆ เช่นปีละ 1 ครั้งเนื่องจากตัวโรคอาจจะกลับมาเป็นซ้ำได้ตลอดเวลา  ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ คนไข้ต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอๆ ว่ามีอาการผิดปกติใดหรือไม่ เช่น คลำเจอก้อนตรงบริเวณเต้านม รักแร้

 

หรือ มีอาการเหนื่อย หอบ ไอ ปวดตามตัว กระดูก แขนขาอ่อนแรง หรืออาการผิดปกติใดๆก็ตาม เนื่องจากอาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณของการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง  และเป็นอาการของการที่มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้

 

มะเร็งเต้านม รักษาหายได้ และควรตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับประชาชนทั่วไป หากตรวจคัดกรองด้วยการคลำเต้านมด้วยตนเองแล้วพบความผิดปกติ ควรรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์โดยเร็ว หรือเมื่ออายุถึงเกณฑ์เข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมก็ควรรีบเข้ารับการตรวจ  เนื่องจากการตรวจพบมะเร็งในระยะแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยง่าย

 

พญ.วีรนุช รัตนเดช ย้ำว่า สำหรับคนไข้โรคมะเร็งเต้านมที่กำลังเข้ารับการรักษา ไม่ควรท้อแท้กับรักษา เนื่องจากแนวทางการรักษาในปัจจุบันพัฒนาไปมาก การรักษาได้ผลค่อนข้างดี และผลข้างเคียงในการรักษาก็น้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต  เมื่อมีปัญหาใดในการรักษา สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลท่านอยู่ได้เสมอ