ยาต้านโควิด "แพ็กซ์โลวิด" ป้องกันโควิด-19 ไม่ได้จริงหรือไม่ อ่านด่วนเลย

03 พ.ค. 2565 | 04:47 น.

ยาต้านโควิด "แพ็กซ์โลวิด" ป้องกันโควิด-19 ไม่ได้จริงหรือไม่ อ่านด่วนเลยที่นี่ ไฟเซอร์เผยการศึกษาขยายผลกลุ่มเสี่ยงขนาดใหญ่

ยาต้านโควิดในปัจจุบันถูกผลิตออกมาหลากหลายชนิดจากผู้วิจัย และพัฒนาเพื่อใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 (Covid-19) 


แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่มีชนิดไหนที่ยืนยันได้ 100% ว่าสามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงกับโรค

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

Pfizer ยอมรับว่ายารักษาโควิดของตนเอง ไม่สามารถใช้ป้องกันโควิดได้

 

จากกรณีที่บริษัท Pfizer ได้วิจัยและพัฒนา จนได้ยารักษาโควิดซึ่งเป็นยาในกลุ่ม Protease inhibitor ชื่อ Paxlovid (แพ็กซ์โลวิด)

 

 

และได้มีผลการวิจัยว่า สามารถรักษาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการหนักจากโควิดได้ดี ในระดับเกือบ 90%

 

ทำให้ได้รับการอนุมัติใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA) ทั่วโลกกว่า 60 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ก็ได้สั่งยาดังกล่าวเข้ามาสำรองเตรียมไว้แล้ว

 

โดยมีประสิทธิผลที่เหนือกว่ายารักษาโควิดของบริษัทอื่นในปัจจุบัน

 

ยาต้านโควิด "แพ็กซ์โลวิด" ป้องกันโควิด-19 ไม่ได้

 

วันนี้บริษัท Pfizer ได้แถลงเพิ่มเติมการศึกษาขยายผล จากการรักษาโควิด ว่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อจากโควิดได้หรือไม่

 

โดยเป็นการศึกษาขนาดใหญ่ ในผู้ใหญ่จำนวน 3000 ราย ที่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง คือมีคนในครอบครัวติดเชื้อโดยผลการตรวจเป็นบวก และมีอาการร่วมด้วย

 

แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งให้ยาหลอก(Placebo) และอีกกลุ่มหนึ่งให้ยาของบริษัทไฟเซอร์ (Paxlovid) ซึ่งให้ในแบบ 5 วันและ 10 วัน

ผลออกมาเป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง คือกลุ่มที่ได้รับยาของไฟเซอร์ไม่ว่าจะ 5 หรือ 10 วัน ก็ไม่ได้มีผลในการป้องกันโควิดที่เหนือกว่ายาหลอกแต่อย่างใด

 

ผลแตกต่างกัน ที่ติดเชื้อน้อยลงมีเพียง 32-37% ซึ่งถือว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในทางการแพทย์

 

จึงทำให้ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนว่า ยา Paxlovid ของ Pfizer เป็นยารักษาโรค ไม่ใช่ยาป้องกันโรค

 

ทำให้หุ้นของบริษัท Pfizer ตกลงไป 4% เหลือเพียง 48.53 เหรียญสหรัฐ จากเดิมที่เคยตั้งใจจะขายยาดังกล่าวให้ได้ประมาณ 24,000 ถึง 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ ก็คงจะไม่เข้าเป้า