เจ๋ง! ม.มหิดล-จุฬา ติดท็อป 100 มหาวิทยาลัยโลก

21 เม.ย. 2565 | 13:08 น.

"เอนก" ปลื้ม QS World University Rankings 2022 ประกาศมหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับโลก 122 สาขาวิชา ม.มหิดล ติดอันดับ 47 ขณะที่ จุฬาฯ ติด 1 ใน 100 ของโลก ใน 4 สาขาวิชา

21 เมษายน 2565 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า การจัดอันดับสถาบันการศึกษาทั่วโลกโดย Quacquarelli Symonds(QS) หรือ QS World University Rankings ซึ่งเป็นองค์กรการให้ข้อมูลในด้านการศึกษาและการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ผ่านระบบที่มีชื่อว่า QS World University Rankings ที่เป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ ของโลกประจำปี 2565 ได้ประกาศการจัดอันดับสาขาวิชาที่ติดอันดับโลก เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 ปรากฎว่า มหาวิทยาลัยของประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับในสาขาวิชาที่ติดอันดับโลก ถึง 122 สาขาวิชา หรือ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ได้ 96 สาขา อีกจำนวน 26 สาขา

ที่สำคัญมีสาขาวิชาที่สามารถขึ้นไปติดถึงอันดับ 47 ของโลก หรือ TOP 50 ของโลกได้ นั่นก็คือ สาขาด้านศิลปะการแสดง (Performing Arts) ของมหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยไทยที่มีสาขาวิชาที่ติดอันดับเป็น 1 ใน 100 ของโลก หรือ TOP 100 ของโลก ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดอันดับใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาด้านศิลปะการแสดง (Performing Arts) สาขาวิชาด้านวิศวกรรมปิโตรเลี่ยม (Engineering-Petroleum) สาขาวิชาด้านพัฒนศึกษา (Development Studies) และสาขาวิชาด้านนโยบายสังคมและการบริหาร (Social Policy & Administration)  

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังติดอันดับในด้านวิศวกรรมปิโตรเลี่ยม (Engineering-Petroleum) มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ติดอันดับใน สาขาวิชาด้านเกษตรศาสตร์และป่าไม้ (Agriculture & Forestry) และมหาวิทยาลัยมหิดล ติดอันดับในสาขาด้านวิชาเภสัชกรรมและเภสัชวิทยา (Pharmacy& Pharmacology)

สาขาวิชาที่ติดอันดับโลกในแต่ละสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขี้น เช่น จุฬาฯ ในปี 2563 และ 2564 ติดอันดับ 30 สาขาวิชา ขยับขึ้น 35 สาขาวิชาในปี 2565 ม.มหิดล ปี 2563 ติดอันดับ 14 สาขาวิชา ปี 2564 ติดอันดับ 16 สาขาวิชาและปี 2565 ติดอันดับ 20 สาขาวิชา

ม.เชียงใหม่ ปี 2564 ติดอันดับ 9 สาขาวิชาและปี 2565 ติดอันดับ 13 สาขาวิชา และ ม.ธรรมศาสตร์ ปี 2564 ติดอันดับ 5 สาขาวิชา แต่ปี 2565 ขยับขึ้นมาเป็น 13 สาขาวิชา เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยของประเทศไทยมีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ซึ่งสุดท้ายผลประโยชน์ตกอยู่ที่นักศึกษาและประเทศไทยนั่นเอง ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก กล่าว