เปิดประวัติ วิทยา ศุภพรโอภาส ดีเจแหบสเน่ห์ ผู้ปลุกปั้น "ลูกทุ่งเอฟ.เอ็ม."  

21 เม.ย. 2565 | 07:31 น.

“วิทยา ศุภพรโอภาส” จากไปแล้วด้วยวัย 73 ปี หลังต่อสู้กับโรคมะเร็งปอดมาระยะหนึ่ง ท่ามกลางความอาลัยรักของแฟนเพลงและมิตรสหายร่วมวงการ  “วิทยา” ผู้มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครในการจัดรายการวิทยุ ด้วยเสียง "แหบสเน่ห์" จนกลายมาเป็นฉายาที่คนในวงการเพลงเรียกเขาว่า “เสี่ยแหบ”

วิทยา ศุภพรโอภาส เกิดเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2492 จบการศึกษาปริญญาตรีศิลปศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จุดเริ่มต้นการทำงานบนเส้นทางดนตรีของวิทยา มาจากการเป็นนักจัดรายการ หรือ ดีเจ เปิดเพลงสากลยุคเอลวิส เพรสลี ,บีจีส์ ฯลฯ ซึ่งเป็นเพลงสมัยนิยม เน้นเจาะกลุ่มผู้ฟังวัยรุ่นและคนทำงาน ในชื่อรายการ “มิวสิค เอ็กเพรส”  แฟนรายการถือว่าเหนียวแน่น เขามีกลุ่มคนฟังที่ติดตามผลงานเป็นจำนวนมาก

 

วิทยาเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ผมจัดรายการตั้งแต่ปี 2513 ผมมีนิยามของผมอยู่แล้ว นักเปิดเพลงสากลทุกคนก็มีแผ่นอยู่แล้ว บีทเทิล บีจีส์ คาร์เพนเตอร์ แต่ทำไมผมดังกว่าคนอื่น เราต้องเติมเสน่ห์ของเพลงโดยตัวเรา ยุคหนึ่งผมจัดสตริง เพลงแจ้ เพลงเบิร์ด ทุกคนมีเปิดเหมือนผม แต่ทำไมฟังของผม ฉันมากับเพลง (ชื่อรายการเพลงไทยสากลของวิทยา) เพราะผมไม่เปิดเพลงธรรมดา ผมต้องเอาอย่างอื่นมาใส่ให้เกิดการพัฒนา ถ้าเปิดแล้วเหมือนเปิดแผ่น ก็ไปซื้อแผ่นเอาสิ ทุกคลื่นก็เปิดเพลงเหมือนผม มันต้องมีบอกเล่า ต้องมีเท้าความ ต้องมีบอกเหตุ เปิดเพลงนี้จำได้มั้ยมันเป็นอย่างนี้ มันต้องมีวิธีเปิด"

 

สเน่ห์รายการเพลงของวิทยา ศุภพรโอภาส นอกจาก เสียงแหบ ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาแล้ว ผู้ฟังยังชื่นชอบข้อมูลและเรื่องราวของยุคสมัย ของศิลปิน และที่มาที่ไปของเพลงนั้น ๆ ทำให้การฟังเกิดอรรถรสและรู้สึกผูกพันกับผู้จัดที่เป็นเหมือนคลังความรู้ไปด้วยในตัว

วิทยา ศุภพรโอภาส

ตลอดชีวิตการทำงานของเขา ไม่เคยออกนอกวงการเพลง เพียงแต่เปลี่ยนแนวเพลงเท่านั้น จากเพลงสากลมาเป็นเพลงสตริงของไทย จากนั้นก็ผันตัวเองมาสู่วงการเพลงเพลงลูกทุ่ง โดยวิทยา หรือ เสี่ยแหบ ได้เปิดช่องทางให้เพลงลูกทุ่งเข้ามาสู่สถานี FM ซึ่งก็เหมือนกับการเปิดทางให้ตัวเขาเองได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ

 

นอกจากนี้ วิทยายังสร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการลูกทุ่ง ด้วยการนำศิลปินลูกทุ่งระดับซูเปอร์สตาร์ทั่วฟ้าเมืองไทย มาร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง "มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม" ร่วมกับค่ายสหมงคลฟิล์ม เมื่อปี 2545   สามารถทำรายได้ไปกว่า 60 ล้านบาท

 

ความสำเร็จของ “เสี่ยแหบ” ในฐานะนักจัดรายการวิทยุนั้น สะท้อนจากการได้รับการโหวตเป็น “นักจัดรายการติดอันดับ 1 ยอดนิยม 6 ปีซ้อน” จัดทำการสำรวจโดยบริษัท DEEMAR (A.C.NIELSEN) เมื่อปี 2526 ต่อมาในปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่เขาริเริ่มก่อตั้งสถานีวิทยุลูกทุ่มเอฟ.เอ็ม.นั้น ทางสถานีก็ติดอันดับ 1 ของสถานีวิทยุยอดนิยม โดยการสำรวจของ A.C.NIELSEN ถึง 5 ปีซ้อน   

วิทยาในวัยหนุ่ม ดีเจเจ้าของเสียงแหบสเน่ห์

วิทยา ศุภพรโอภาส ยังเคยได้รับ รางวัลเกียรติยศ ต่าง ๆ ดังนี้

  • รางวัลพระราชทานเทพทอง ครั้งที่ 12 ปี 2554 สาขารางวัลนักจัดวิทยุกระจายเสียงดีเด่น
  • รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 28 ปี 2562 สาขารางวัลเกียรติยศ
  • ล่าสุด รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 12 ปี 2564 สาขารางวัลเกียรติยศด้านวิทยุ

สำหรับในแวดวงภาพยนตร์นั้น นอกจากภาพยนตร์เรื่อง "มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม" ที่วิทยาร่วมผลิตกับค่ายสหมงคลฟิล์มแล้ว  เขายังมีผลงานเป็นที่จดจำจากภาพยนตร์เรื่อง “18 กะรัต” ที่เขาเป็นผู้อำนวยการสร้าง (และร่วมแสดง) เป็นเรื่องแรกในปี 2528 ซึ่งเรื่องนี้เรียกได้ว่าวิทยารวบรวมเอาศิลปินนักร้องเพลงสตริงชื่อดังทั่วฟ้าเมืองไทยมาร่วมแสดงและประสบความสำเร็จอย่างสูง  

 

ต่อมาในปี 2545 วิทยาอำนวยการสร้าง "มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม" ประสบความสำเร็จเปรี้ยงปร้างดังกล่าวมาแล้วข้างต้น และปี 2557 เป็นการตอกย้ำความรุ่งโรจน์ของวงการเพลงลูกทุ่งอีกครั้งด้วยภาพยนตร์เรื่อง “รวมพลคนลูกทุ่ง” เป็นภาพยนตร์ที่รวมนักร้องลูกทุ่งจากทุกค่ายเพลง

 

ในฐานะผู้บริหารองค์กร วิทยาเป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จกับการร่วมก่อตั้งและเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท นิธิทัศน์โปรโมชั่น จำกัด (ปี 2526-2535) จากนั้น เขาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท M Square Entertainment ในเครือบริษัท Media of Media จำกัด(มหาชน) (ปี 2537-2540) 

 

หลังจากนั้นปี 2540-2547 วิทยาปลุกปั้นบริษัทลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. จำกัด ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร กระทั่งปี 2542 จนถึงปัจจุบัน วิทยาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นประธานบริษัท เอ็กซ์เพรส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด เจ้าของรายการยอดนิยมมากมาย อาทิ รายการสายตรงลูกทุ่ง (ไทยรัฐทีวี) รายการศึกชิงแชมป์ลูกทุ่งเงินล้าน (พีพีทีวี) รายการศึกมวยไทยราชดำเนิน (ช่องสามHD) รายการลูกทุ่งตัวจริง, รายการความเหมือนที่แตกต่าง , รายการเต็มโชว์ (ช่องจีเอ็มเอ็ม) รวมทั้งช่องยูทูบของเขาเองภายใต้ชื่อ “วิทยา ศุภพรโอภาส official

 

วันที่ 21 เม.ย.2565 วิทยา ศุภพรโอภาส จากไปแล้วอย่างสงบหลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งปอด ทิ้งไว้เพียงตำนานอันยิ่งใหญ่ ขอแสดงความเสียใจมายังครอบครัวศุภพรโอภาส ณ ที่นี้