เชื้อโควิดแพร่ทางไหน วัคซีนช่วยได้หรือไม่ ฟาวิพิราเวียร์ได้ผลไหม อ่านเลย

18 เม.ย. 2565 | 04:51 น.

เชื้อโควิดแพร่ทางไหน วัคซีนช่วยได้หรือไม่ ฟาวิพิราเวียร์ได้ผลไหม อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอมนูญสรุปประเด็นสำคัญจากประสบการณ์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

โรคโควิด-19 (Covid-19) เป็นโรคใหม่ ยอมรับว่าต้องใช้เวลาเรียนรู้สักพัก กว่าจะปรับตัวตามเชื้อไวรัสนี้ทัน 

 

ผมเป็นแพทย์ด่านหน้า (front line doctor) มีประสบการณ์ได้เห็นผู้ป่วยในชีวิตจริง (real world) 

 

ได้เขียนแสดงความเห็นโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ขอสรุปเรื่องสำคัญสั้นๆใน 2 ปีกว่าที่ผ่านมาดังนี้ 

 

1.เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้ทางอากาศ ติดทางการหายใจ เขียนตั้งแต่มีนาคม 2563 

 

หลังจากได้เห็นคนไข้ติดเชื้อไวรัสโควิดในสนามมวยลุมพินี ทั้งๆที่อยู่ห่างจากเซียนมวยคนที่แพร่เชื้อหลาย 10 เมตร เพราะอยู่ในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่ดี ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 

 

ปัจจุบันทั่วโลกยอมรับแล้วว่า ไวรัสโควิดแพร่ได้ทางอากาศ การแนะนำให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยจึงมีประโยชน์ 

 

คนป่วยใส่หน้ากากอนามัยช่วยลดการแพร่เชื้อ คนปกติใส่หน้ากากอนามัยช่วยลดการรับเชื้อทางการหายใจ

2.วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนเชื้อตายนำเข้าประเทศไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ผมเองและคนในครอบครัวก็ฉีดวัคซีนซิโนแวค 

 

ผมเสนอให้รัฐบาลเลิกนำเข้าวัคซีนเชื้อตาย เขียนตั้งแต่กรกฎาคม 2564 หลังจากได้เห็นคนไข้หลายคนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 โดส 

 

มีอาการป่วยรุนแรงหลังจากติดเชื้อไวรัสโควิดมากกว่าคนที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 

 

ปัจจุบันเป็นที่ทราบดีว่าประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตายในชีวิตจริงในการลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต สู้วัคซีนชนิดอื่นๆไม่ได้ 

 

เชื้อโควิดแพร่ทางไหน วัคซีนช่วยได้หรือไม่

 

แต่อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนเชื้อตายยังดีกว่าไม่ฉีด

 

3.แนะนำให้คนไทยเรียนรู้อยู่ร่วมกับโควิด และใช้ชีวิตอย่างมีสติ เขียนตั้งแต่ตุลาคม 2564 เพราะคนไม่มีทางเอาชนะไวรัส กำจัดเชื้อโรคนี้ให้เป็นศูนย์ได้

 

ต่อให้มีมาตรการล็อกดาวน์ ป้องกันส่วนบุคคลเต็มที่ ฉีดวัคซีนครบโดส เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

 

เพราะเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ เก่งขึ้นเรื่อยๆ หลบหลีกภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนและเคยติดเชื้อไวรัสตามธรรมชาติมาแล้ว

4.คนไทยเกือบทุกคน มีโอกาสจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ไม่ช้าก็เร็ว เขียนตั้งแต่มกราคม 2565 

 

เพราะสายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายเร็วมากกว่าทุกสายพันธุ์  ขอให้ทุกคนรีบไปฉีดวัคซีนครบโดสและตามด้วยเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต

 

หลังฉีดวัคซีนแล้ว หากติดเชื้อก็ไม่ต้องกลัว เพราะอาจไม่มีอาการ หรือป่วยน้อยเหมือนกับหวัดธรรมดา

 

5.ไม่มีหลักฐานจากการศึกษาขนาดใหญ่ว่า ยาฟาวิพิราเวียร์สามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากไวรัสโควิดได้ เขียนตั้งแต่มีนาคม 2565 

 

เพราะได้เห็นผู้ป่วยหลายคนได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เร็ว ก็ยังเกิดปอดอักเสบ 

 

เมื่อมียาใหม่โมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิดที่มีประสิทธิภาพลดการป่วยหนักและเสียชีวิต องค์การเภสัชกรรมควรเลิกผลิตและนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ เชื่อว่าอีกไม่นานแพทย์ไทยคงเลิกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์