สงกรานต์ 3 วันแรก เกิดอุบัติเหตุ869 ครั้ง บาดเจ็บ 853 คน เสียชีวิต 113 ราย

14 เม.ย. 2565 | 12:59 น.

จับตา 7 วันอันตราย! 13 เมษายน 2565 เกิดอุบัติเหตุ 331 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 40 ราย ผู้บาดเจ็บ 323 คน สถิติรวมสงกรานต์ 3 วันแรกบาดเจ็บ 853 คน เสียชีวิต 113 ราย โดยสาเหตุหลักอุบัติเหตุมาจากดื่มแล้วขับมากที่สุด พร้อมกำชับจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นเส้นทางสายรองกวดขันรถจักรยานยนต์

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ เผย 7 วันอันตราย สงกรานต์ผ่านมา 3 วัน (11-13 เม.ย.65) บาดเจ็บ 853 คน เสียชีวิต 113 ราย ด้านศปถ. กำชับจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นเส้นทางสายรอง ตั้งด่านตรวจ ด่านชุมชน กวดขันรถจักรยานยนต์

 

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 331 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 40 ราย ผู้บาดเจ็บ 323 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 30.51 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 30.21 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.36 รถปิกอัพ 7.10 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 38.97 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.95 บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง ร้อยละ 75.53 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 17.01 – 18.00 น. ร้อยละ 10.27 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 22.59

 

ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี และเชียงใหม่ (15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สมุทรสาคร (5 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (15 คน) เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,903 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 56,270 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 413,877 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 79,025 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 22,297 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 20,771 ราย

สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 3 วัน (วันที่ 11 – 13 เมษายน 2565) เกิดอุบัติเหตุรวม 869 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 113 ราย ผู้บาดเจ็บ 853 คน โดยสาเหตุหลักยังคงเกิดจากการขับรถเร็วและการดื่มแล้วขับ ทั้งนี้ พฤติกรรมเสี่ยง ที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น และนครศรีธรรมราช (33 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สมุทรสาคร (6 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (36 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตรวม 27 จังหวัด