กำจัดจุดเสี่ยงคลัสเตอร์วัด กรมอนามัยแนะพระสงฆ์แยกฉันภัตตาหาร ลดแพร่โควิด

14 เม.ย. 2565 | 11:33 น.

ในช่วงสงกรานต์ พุทธศาสนิกชนนิยมเข้าวัด ทำบุญ-ตักบาตร-ถวายอาหารเพล แต่ในช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้พระสงฆ์ควรแยกสำรับฉันภัตตาหาร รวมถึงให้ใช้ช้อน ชาม จาน แก้วน้ำส่วนตัว เพื่อลดเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เป็นหมู่กลุ่ม

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าววันนี้ (14 เม.ย.) ว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็น วันปีใหม่ไทย คาดว่าจะมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากเข้าวัด ทำบุญ ตักบาตร ถวายอาหารเพล เพื่อความเป็นสิริมงคล แต่เนื่องจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อรายวันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากเป็นไปได้ ขอความร่วมมือ พระสงฆ์ งดฉันภัตตาหารร่วมโต๊ะ ให้เปลี่ยนเป็นฉันภัตตาหารแยกจากกันแบบเว้นระยะห่าง พร้อมใช้ช้อน ชาม จาน และแก้วน้ำส่วนตัวไม่ปะปนกัน

 

อีกทั้งขอความร่วมมือประชาชนที่นิยมไปทำบุญ หรือปฏิบัติธรรมที่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรมทุกแห่ง อาจเปลี่ยนเป็นทำบุญผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เช่น ทำบุญผ่าน QR Code (e-Donation)  และปฏิบัติธรรมที่บ้านแทน เช่น ไหว้พระสวดมนต์ และนั่งสมาธิ 

การฉันภัตตาหารแยกจากกันแบบเว้นระยะห่าง แทนการนั่งฉันล้อมวง ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่โควิด

ส่วนศาสนาอื่น ๆ ก็สามารถสวดละหมาด หรือทำพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ได้ที่บ้านเช่นกัน เพื่อความปลอดภัย และลดความเสี่ยงของการกระจายเชื้อโควิด-19

 

“ทั้งนี้ ขอความร่วมมือศาสนสถานต่าง ๆ ประเมินตนเองผ่าน แพลตฟอร์ม Thai Stop COVID 2 Plus ด้วยมาตรการ COVID Free Setting ทั้ง 3 ด้าน คือ

  1. มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (COVID Free Environment)
  2. มาตรการสำหรับผู้นำทางศาสนา ผู้ประกอบพิธีกรรม และเจ้าหน้าที่ (COVID Free Personnel)
  3. มาตรการสำหรับผู้มาเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา (COVID Free Customer)

 

เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับประชาชน อีกทั้งการจัดกิจกรรมภายในศาสนสถาน ต้องเป็นไปตามมาตรการ COVID Free Setting โดยจัดให้มีจุดคัดกรอง ผู้เข้ามาใช้บริการ กำหนดระยะห่างระหว่างบุคคล โดยเฉพาะช่วงฟังเทศนาธรรม ทำบุญถวายสังฆทาน มีการจัดอาหารแบบแยกชุด รวมถึงการดูแลความสะอาดของสถานที่และให้เปิดโล่ง เพื่อการระบายอากาศที่ดี

สำหรับประชาชนที่ร่วมงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ต้องป้องกันตนเองขั้นสูงสุดด้วยหลัก UP–DMHTA พร้อมทั้งคัดกรองความเสี่ยงตนเองทุกวันผ่านระบบ “ไทยเซฟไทย” หากมีอาการ หรือมีความเสี่ยงควรให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK และฝ้าระวังอาการตนเองเป็นพิเศษ 5-10 วัน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวทิ้งท้าย