ยอดโควิดวันนี้เป็นอย่างไร แนวโน้มข้างหน้าเพิ่มขึ้น-ลดลง อ่านที่นี่

14 เม.ย. 2565 | 00:48 น.

ยอดโควิดวันนี้เป็นอย่างไร แนวโน้มข้างหน้าเพิ่มขึ้นหรือลดลง อ่านที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลสถิติด้านต่างๆเพื่อคาดการณ์การติดเชื้อในอนาคต

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

โควิดไทยเดือนเมษายน 2565 ติดเชื้อรวมคงที่ แบบ PCR ลดลง แบบ ATK เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 6.5%

 

สำหรับผู้ที่สนใจและติดตามสถานการณ์โควิดของประเทศไทยในลักษณะดูสถิติต่างๆทุกวัน

 

ในช่วงเดือนเมษายน 2565 อาจจะเข้าใจแนวโน้มค่อนข้างยาก เพราะตัวเลขแต่ละวัน มีทั้งคงที่ เพิ่มขึ้น และลดลง สลับกันไปมา

 

จึงได้ทำสถิติตัวเลขต่างๆ เป็นค่าเฉลี่ย 7 วัน ซึ่งสากลทั่วไปใช้ค่าเฉลี่ย 7 วัน เพื่อบอกแนวโน้มที่มีความถูกต้องแม่นยำ มากกว่าการดูสถิติรายวัน

 

พบตัวเลขที่น่าสนใจ เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 7 วัน ระหว่าง ช่วงแรก 31 มีนาคม ถึง 6 เมษายน 2565  เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วง 7 วันล่าสุด วันที่ 7-13 เมษายน 2565 ดังนี้

 

  • จำนวนผู้ติดเชื้อรวม คงที่ 43,995 ราย และ 43,196 ราย

 

  • ผู้ติดเชื้อแบบ PCR ลดลง จาก 25,862 ราย เหลือ 23,863 ราย

 

  • ผู้ติดเชื้อแบบ ATK เพิ่มขึ้น จาก 18,133 ราย เป็น 19,333 ราย จึงสรุปได้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรวมคงที่
  • ผู้รักษาตัวหาย คงที่จาก 25,240 ราย เป็น 25,962 ราย

 

  • ผู้รักษาตัวอยู่ในรพ. ลดลงเล็กน้อยจาก 252,542 ราย เหลือ 244,913 ราย

 

  • ผู้ป่วยหนักมีปอดอักเสบ เพิ่มขึ้นจาก 1838 ราย เป็น 1966 ราย เพิ่มขึ้น 6.9%

 

ยอดติดเชื้อโควิดวันนี้เป็นอย่างไร แนวโน้มเพิ่มขึ้น-ลดลง

 

  • ผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ เพิ่มขึ้นจาก 749 ราย เป็น 833 ราย เพิ่มขึ้น 11.2%

 

  • ผู้เสียชีวิต เพิ่มขึ้นจาก 93 ราย เป็น 99 ราย หรือเพิ่มขึ้น 6.5%

 

จึงทำให้พอจะเห็นแนวโน้ม ( ซึ่งมีข้อจำกัด โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อจะเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าผู้ติดเชื้อจริง เพราะจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งที่ไม่ตรวจหาเชื้อ และอีกจำนวนหนึ่งที่ตรวจพบเชื้อแล้วไม่มีอาการ ก็ไม่ได้แจ้งเข้ามาในระบบ)

แนวโน้มคือ

 

  • ผู้ติดเชื้อโดยรวม คงที่
  • ติดเชื้อแบบ PCR ลดลง
  • ติดเชื้อแบบ ATK เพิ่มขึ้น
  • ผู้หายป่วยคงที่
  • ผู้รักษาตัวอยู่ใน รพ. ลดลงเล็กน้อย
  • ผู้ป่วยหนักมีปอดอักเสบเพิ่มขึ้น (6.9%)
  • ผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น (11.2%)
  • ส่งผลให้ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น (6.5%)

 

โควิดระบาดระลอกที่สี่ ที่เกิดจากไวรัสโอมิครอน นับตั้งแต่มกราคม 2565 ผ่านมา 3.5 เดือน ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น ที่มีลักษณะผู้ติดเชื้อทรงตัวในเดือนเมษายน 2565

 

แต่มีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน

 

จึงยังคงต้องระมัดระวัง ในการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์  ร่วมมือกันไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่ทรงตัวอยู่ดังกล่าว เพิ่มมากขึ้น และไม่ให้จำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตซึ่งเพิ่มอยู่แล้ว  เพิ่มรุนแรงมากขึ้นไปอีก