อาการของโควิดลงปอดเป็นอย่างไร มีวิธีการรักษาแบบไหน อ่านเลยที่นี่

13 เม.ย. 2565 | 04:45 น.

อาการของโควิดลงปอดเป็นอย่างไร มีวิธีการรักษาแบบไหน อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลไว้ให้ พร้อมแนวทางลดความรุนแรงของอาการ

อาการของโควิดลงปอดเป็นอย่างไร วิธีการรักษาเป็นแบบไหน เป็นคำถามสำคัญในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์โอมิครอนกระจายไปทั่ว

 

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้ดำเนินการสืบค้นข้อมูล เพื่อไขคำตอบของประเด็นดังกล่าว พบว่า 

 

วิธีสังเกตอาการโควิด-19 ลงปอด ประกอบด้วย
 

  • แน่นหน้าอก
     
  • หายใจลำบาก
     
  • เหนื่อย หอบ แม้ว่าจะไม่ได้ออกแรงกระทำการใดก็ตาม
     
  • ไข้ขึ้นมากกว่า 37.5°C ขึ้นไป
     
  • มีอาการไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ
  • การใช้อุปกรณ์วัดค่าออกซิเจนในเลือดบริเวณปลายนิ้ว (Fingertip Pulse Oximeter) ค่าออกซิเจนในเลือดไม่ควรมีระดับต่ำกว่า 95% และควรวัดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
     
  • การวัดค่าออกซิเจนในเลือดทันที หลังจากการลุกนั่งในเวลา 1 นาที หรือการกลั้นหายใจ ในเวลา 10 – 15 วินาที หากมีค่าออกซิเจนในเลือดระดับต่ำกว่า 94%

 

ทั้งนี้ เมื่อเชื้อไวรัสโควิด -19 ลงปอดในผู้ป่วยที่กำลังรอเข้ารับการรักษา Hospitel หรือผู้ป่วยที่รักษาแบบ Home Isolation  สามารถลดความรุนแรงของอาการได้ด้วยการปฏิบัติดังนี้

 

  • 1. นอนคว่ำหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงในการที่ปอดถูกกดทับ หรือนอนกึ่งตะแคงกึ่งคว่ำ 45 องศา ในกรณีผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ควรนอนตะแคงไปทางด้านซ้าย เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำหนักของมดลูกไปกดทับเส้นเลือดใหญ่ดำ ส่งผลให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น

 

อาการของโควิดลงปอดเป็นอย่างไร

 

  • ยืดเหยียดปลายเท้า งอขา ส่งผลให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น และป้องกันการเกิดลิ่มเลือดได้ดี
     

 

  • ดื่มน้ำให้มากกว่า 2 ลิตร ต่อวัน และรับประทานอาหารให้พออิ่ม ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ควรบริโภคเครื่องดื่มเกลือแร่แทน
     

 

  • หากมีอาการไข้ขึ้น ให้รับประทานยาพาราเซตามอลเท่านั้นโดยทันที ไม่ควรปล่อยให้ไข้ขึ้นสูงแล้วจึงรับประทานยา ในกรณีผู้ป่วยโรคตับห้ามรับประทานยาพาราเซตามอลโดยเด็ดขาด เป็นอันตรายอาจเกิดอาการตับวาย ควรใช้วิธีการลดไข้ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดตัวเพียงเท่านั้น
     
  • สามารถรับประทานยาสมุนไพรในปริมาณที่พอดี ไม่เกินที่แพทย์ หรือเภสัชกรกำหนด เช่น ยาสมุนไพรที่ทำมาจากฟ้าทะลายโจร หรือยาสมุนไพรที่ทำมาจากกระชาย เป็นต้น
     

 

  • ควรขับถ่ายด้วยการใช้กระโถน ไม่ควรลุกเดินไปเข้าห้องน้ำ เพราะมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการเป็นลม หมดสติ หัวใจหยุดเต้น จนเสียชีวิตในที่สุด

 

สำหรับการรักษาโควิด-19 ลงปอด ประกอบด้วย 
 

 

  • การใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสจะเข้าไปฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แบ่งตัวเพิ่มเติม และทำลายเซลล์ในอวัยวะต่างๆ อีกทั้งยังมีการใช้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาแก้อักเสบ เพื่อลดการอักเสบภายในร่างกาย
     

 

  • การใช้เครื่องช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก โดยเฉพาะบริเวณเนื้อปวดที่ถูกทำลาย หรือปอดมีอาการบวมน้ำ
     

 

  • การใช้เครื่องปอด - หัวใจเทียมแบบเคลื่อนย้าย (Extracorporeal Membrane Oxygenation) หรือ ECMO ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้ สามารถฟอกโลหิตของผู้ป่วยแล้วเติมออกซิเจนเข้าไป ก่อนที่จะคืนกลับเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย

 

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาหายจากอาการโควิดลงปอดแล้ว มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long COVID ซึ่งเป็นอาการหลงเหลือที่มาจากเชื้อโควิด-19 ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล 

 

หากสภาพปอดถูกทำลายเพียงเล็กน้อย อาจใช้เวลาเพียงไม่นาน ในการฟื้นฟูในปอดให้กลับมาเป็นปกติ 

 

แต่หากสภาพปอดถูกทำลายไปมาก แม้จะยังสามารถใช้งานได้ แต่ประสิทธิภาพอาจทำงานได้น้อยลง

 

ที่มา : โรงพยาบาลเพชรเวช