โควิดโอมิครอน XE จ่อเป็นสายพันธุ์หลักในไทยเพราะอะไร น่ากลัวแค่ไหน อ่านเลย

12 เม.ย. 2565 | 07:04 น.

โควิดโอมิครอน XE จ่อเป็นสายพันธุ์หลักในไทยเพราะอะไร น่ากลัวแค่ไหน อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยคาดการณ์จากข้อมูลกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งได้รายงานสัดส่วนของไวรัสที่เป็นต้นเหตุของผู้ติดเชื้อเวลานี้

โควิดสายพันธุ์ XE เป็นโควิดโอมิครอน (Omicron) กลายพันธุ์สายพันธุ์หนึ่งที่มีการระบาดแล้วในประเทศไทย และถูกคาดหมายว่าอาจจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักต่อไป 

 

ทั้งนี้ เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" มีข้อมูลจากน.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า 

 

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ 2 (BA.2) กลายเป็นสายพันธุ์หลักของไทยด้วยสัดส่วน 96% คาดว่าสายพันธุ์ลูกผสม XE จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักลำดับถัดไป

 

โดย หมอเฉลิมชัย หยิบยกข้อมูลสำคัญของ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งได้รายงานสัดส่วนของไวรัสที่เป็นต้นเหตุของผู้ติดเชื้อในขณะนี้

 

พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ล่าสุดพบไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากถึง 95.9% เหลือ BA.1 เพียง 4%

หากย้อนหลังกลับไปดูเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว

 

  • 5 กุมภาพันธ์ 2565 พบ BA.2 เพียง 18.5% และขยับเพิ่มทุกสัปดาห์
  • 12 กุมภาพันธ์  32.9% 
  • 19 กุมภาพันธ์  46.7% 
  • 26 กุมภาพันธ์  51.8% 
  • 5 มีนาคม    67.6% 
  • 12 มีนาคม  78.5% 
  • 19 มีนาคม  87.4% 
  • 26 มีนาคม  92.2%

 

โควิดโอมิครอน XE จ่อเป็นสายพันธุ์หลักในไทยเพราะอะไร

 

จะเห็นได้ว่าความสามารถของสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.1 อยู่ 30% สามารถครองสัดส่วนหลักสำเร็จภายในเวลาเพียง 1 เดือน และเกือบครบ 100% ภายในเวลาเพียง 2 เดือน

 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อย้อนกลับไปดูในอดีตของโควิด จะพบว่าการที่ไวรัสสายพันธุ์ใดจะกลายเป็นสายพันธุ์หลัก ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ ความสามารถในการแพร่ระบาด

โดยได้พบลำดับของการเป็นสายพันธุ์หลัก ทดแทนสายพันธุ์เดิมดังนี้

 

  • ไวรัสสายพันธุ์ Alpha แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อู่ฮั่นอยู่ 70% ก็กลายเป็นสายพันธุ์หลักของประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเมษายนถึงมิถุนายน 2564

 

  • ไวรัสสายพันธุ์ Delta แพร่เร็วกว่า Alpha  60% ก็กลายเป็นสายพันธุ์หลักแทน Alpha ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2564

 

  • ไวรัสสายพันธุ์ Omicron แพร่เร็วกว่า Delta 4 เท่า ใช้เวลาเพียงไม่ถึงเดือนก็สามารถเป็นสายพันธุ์หลักแทนเดลตาได้ โดยเริ่มพบ Omicron (BA.1) เมื่อวันที่ 4-10 ธันวาคม ด้วยจำนวน 1.5%  ,27-28 ธันวาคม พบเพิ่มขึ้นเป็น 66.5% และในช่วงมกราคม 2565 พบมากกว่า 90%

 

  • 4) ไวรัส Omicron สายพันธุ์ย่อยที่ 2 (BA.2) แพร่เร็วกว่า BA.1  30% ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักแทน BA.1 ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ใช้เวลาเพียงหนึ่งเดือน ขณะนี้พบมากถึง 96% แล้ว

 

5) ไวรัส Omicron สายพันธุ์ XE แพร่เร็วกว่า BA.2 อยู่ 10% จึงทำให้คาดได้ว่าไวรัส XE น่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

 

การที่มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมาแทนไวรัสสายพันธุ์เดิม ในช่วงที่ไวรัสสายพันธุ์เดิมระบาดยังไม่ถึงพีคหรือจุดสูงสุด จะส่งผลให้พีคขยับตัวสูงขึ้น และห่างออกไปอีก

 

จึงคาดได้ว่าพีคของการระบาดระลอกที่ 4 จากโอมิครอนอาจจะขยับสูงขึ้น และห่างออกไป เนื่องจากมีไวรัสสายพันธุ์ย่อยรูปผสม XE มาแทน BA.2
เช่นเดียวกับที่สายพันธุ์ย่อย BA.2 เคยทำให้พีคระลอกที่ 4 สูงขึ้นต่อเนื่อง จากการทดแทน BA.1

 

สำหรับโควิดสายพันธุ์ XE นั้น เป็นสายพันธุ์โอมิครอนลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 โดยพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 มีการถอดรหัสพันุกรรมทั้งจีโนมและอัปโหลดขึ้นไปแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิด-19 โลกแล้วมากกว่า 600 ตัวอย่าง
 

สำหรับในประเทศไทย  ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อยืนยันสายพันธุ์ XE รายแรก โดยตรวจพบจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างสวอปจากผู้ติดเชื้อชาวไทย 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อในกลุ่มสีเขียว โดยมีอาการเพียงเล็กน้อย


ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XE ว่า เป็นสายพันธุ์ที่สามารถติดต่อได้ง่าย และรวดเร็วกว่าเชื้อโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ที่เคยพบเจอมา และมีอัตราการแพร่ระบาด (growth advantage) เหนือกว่า BA.2 ถึง 10% แต่ยังต้องรอข้อมูลจากทั่วโลกที่ร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมอีกระยะหนึ่งเพื่อการยืนยัน

 

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากอินดิเพนเดนท์ มีการคาดการณ์ว่า อาการป่วยของโควิดสายพันธุ์ XE มีความคล้ายคลึงผู้ป่วยโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 โดยอาการป่วยโควิดระยะแรกในช่วงแพร่เชื้อ ได้แก่ เจ็บคอ, เหนื่อยล้า, ปวดศีรษะ, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, น้ำมูกไหล, จาม, ท้องร่วง, เบื่ออาหาร, ปวดหลังช่วงล่าง และเหงื่อออกตอนกลางคืน

 

นอกจากนี้ ยังคาดว่าระยะเวลาแพร่เชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XE ใกล้เคียงกับโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม ไม่ว่าผู้ป่วยโควิดจะแสดงอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ ระยะเวลาแพร่เชื้อคือ 3 – 14 วันหลังจากได้รับเชื้อมาแล้ว