น่าห่วง! TDRI ชี้เด็กไทยพัฒนาการช้า วิธีแก้ง่ายแค่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง

11 เม.ย. 2565 | 11:39 น.

นักวิชาการจาก TDRI ห่วงเด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้าค่อนข้างสูง สิ่งที่ดีที่สุดคือ การอ่านหนังสือกระตุ้นพัฒนาการเด็ก พ่อแม่ต้องอ่านหนังสือให้ฟัง กังวลครอบครัวรายได้น้อยขาดแคลนหนังสือ ชี้ทางแก้ รัฐต้องมีนโยบาย งบประมาณ และปฏิบัติแบบชุมชนต้องมีส่วนร่วม

จากการเสวนาวิชาการ นโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัยด้วยวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อสร้างพลังสังคมแห่งอนาคต ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 

 

นางจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมอนามัย ได้มีการทดสอบพัฒนาการเด็กเป็นระยะ ๆ ในแต่ละช่วงวัย พบว่า เด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้าค่อนข้างสูง อยู่ที่ 30% โดยเป็นพัฒนาการล่าช้าทางด้านภาษา พูดคำศัพท์น้อย พูดไม่ค่อยได้ 

 

ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญมากกว่าด้านอื่น ๆ เพราะพัฒนาการทางด้านภาษาจะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสามารถของเด็กเมื่อเข้าสู่ระดับการเรียนในชั้นที่สูงขึ้น  

 

ที่ผ่านมามีงานวิจัยจากการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 4 ปี ในกลุ่มพึ่งพิง ฐานะยากจน พบว่าการเลี้ยงลูกอย่างเต็มความสามารถ แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือ การอ่านของเด็ก และ การรู้จักคำศัพท์ ของเด็กพบว่า เด็กที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง จะได้คะแนน 2 ส่วนนี้ ดีกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้อ่านหนังสือให้ฟัง 

 

อีกทั้งจากการศึกษาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 ในโครงการ หนังสือเล่มแรก พบว่า การที่ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟังจะมีผลต่อพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นงานศึกษาจากต่างประเทศหรือการศึกษาในประเทศไทย มีความสอดคล้องกันคือ การอ่านหนังสือให้เด็กฟังมีความสำคัญมาก ๆ

เสวนาวิชาการ สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

 

ขณะเดียวกันจากการสำรวจเมื่อปี 2562 ของงานสถิติแห่งชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ค่อนข้างมีความหลากหลายทั้งทางด้านโภชนาการ ด้านการได้รับวัคซีน และด้านพัฒนาการเด็ก

 

โดยในส่วนของพัฒนาการเด็กนั้น มีการสอบถามว่า ในบ้านมีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่มหรือไม่ ซึ่งผลสำรวจพบว่า มีครอบครัวเพียง 34%เท่านั้นที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ที่มีหนังสือในบ้าน ถือว่าน้อยมาก

 

ทั้งนี้เมื่อเทียบระหว่างคนที่มีฐานะดีและคนที่ฐานะยากจนที่สุด พบว่า ครัวเรือนที่ฐานะยากจนมีหนังสือสำหรับเด็กเพียง 14 %เท่านั้น เรียกว่าอยู่ในขั้นขาดแคลน 

 

เมื่อถามต่อว่า เด็กในบ้านมีการเล่นหรือใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน กลับพบว่าเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ มีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 53% ซึ่งการที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มาก ๆ จะมีผลเสียตามมา คือ เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ดื้อ ซน ไม่เชื่อฟัง และมีผลทางด้านภาษา การเข้ากับคนอื่น และมีผลต่อสติปัญญาในอนาคตด้วย 

เสวนาวิชาการ สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

 

ทั้งนี้ได้นำเสนอข้อมูลสำคัญว่า การอ่านหนังสือมีข้อดีอยู่ 7 ด้าน ประกอบด้วย 

  1. เกิดสายสัมพันธ์พิเศษระหว่างผู้อ่านกับเด็ก เพราะเวลาที่อ่านหนังสือแล้วมีเด็กอยู่บนตัก ดูหนังสือไปด้วยกันจะเกิดการแสดงความรักความผูกพันอันมาจากความใกล้ชิดกัน 
  2. เด็กจะได้รับการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาการ จากการที่มีผู้อ่านหนังสือออกเสียงให้ฟัง เกิดการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ และฝึกการออกเสียงที่ถูกต้อง 
  3. เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของสมอง รู้วิธีการอ่านหนังสือว่าต้องอ่านจากซ้ายไปขวา อ่านจากบนลงล่าง และวางรากฐานการฝึกทักษะการใช้ชีวิตในสังคม สิ่งแวดล้อม ฝึกการควบคุมอารมณ์ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในหนังสืออยู่แล้ว ดังนั้น หนังสือจึงเปรียบเสือนโลกใบใหม่ของเด็กในระหว่างที่ยังไม่ได้ออกไปเผชิญกับสังคมภายนอก 
  4. เป็นการเพิ่มสมาธิ ฝึกวินัยให้กับเด็กเพราะเวลาที่อ่านหนังสือเด็กจะมีความสนใจอยากจะฟังต่อ 
  5. เกิดจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ในระหว่างที่อ่านหนังสือให้ฟังนั้น เด็ก ๆ จะค่อย ๆ คิดตามไปทีละเรื่อง คิดต่อเนื่องเชื่อมโยงไปเรื่อย ๆ จนเกิดจินตนาการและเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ตามมา 
  6. ฝึกนิสัยรักการอ่านให้กับเด็ก เกิดความรัก หวงแหนหนังสือ เวลาไปไหนก็อยากจะเอาหนังสือไปด้วย 
  7. สร้างความเป็นเลิศทางการเรียนรู้ จากการที่เด็กได้รับจากการที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังบ่อยๆ

 

นางเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) หรือ พอช. กล่าวว่า ขณะนี้มีโครงการส่งเสริมการอ่านในชุมชน ซึ่งไม่ใช่แค่การทำให้ท้องอิ่มอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการเสริมสร้างการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็ก และคนในชุมชน แต่ก็ต้องมีการพัฒนาหรือขยายโครงการเพิ่มเติม 

 

น.ส.ทิพย์สุดา ชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า นอกจากการให้เวลาในการอ่านหนังสือให้เด็กฟังแล้ว “หนังสือที่น่าสนใจสำหรับเด็ก” ก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น สมาคมผู้จัดพิมพ์มีโครงการ “1 อ่านล้านตื่น” ที่มี สสส. ร่วมสนับสนุน 

 

น.ส.ทิพย์สุดา กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่เกิดการจากมองเห็นปัญหาการบริจาคหนังสือที่ไม่ได้ตรงกับความสนใจของเด็ก จึงมีแนวคิดในการบริจาคเป็นเงินสำหรับซื้อหนังสือที่เด็กสนใจอยากจะอ่านจริง ๆ แม้ว่าตอนแรกถูกโจมตีว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นโครงการหวังผลในการเพิ่มยอดขายหนังสือ 

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ วันที่มีเด็กกำเงินบริจาคมาหาเราเพื่อขอซื้อหนังสือภายในงาน เขาร้องไห้พร้อมกับบอกว่า ที่ผ่านมาเขาไม่เคยได้เลือกซื้อหนังสือที่อยากอ่านเองเลย เพราะไม่มีเงินซื้อหนังสือที่ถูกมองเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย 

 

“เรารู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว เด็กเขาก็มีเรื่องที่เขาอยากอ่าน วรรณกรรมที่เขาอยากอ่าน เพียงแค่เรามีโอกาสรับบริจาค จึงรู้สึกว่าโครงการนี้จะช่วยสานฝันให้เด็กรักการอ่าน ได้อ่านในสิ่งที่เขาต้องการอ่าน ขณะนี้ก็มีการรับบริจาคอยู่ที่ เทใจดอทคอมและภายในงานสัปดาห์หนังสือฯ ด้วย”

 

ทั้งนี้ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์  www.happyreading.in.th หรือสอบถามข้อมูลได้ที่เพจ อ่านยกกำลังสุข

 

เสวนาวิชาการ สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ