สิ้นราษฎรอาวุโส “ศ.เสน่ห์ จามริก” นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน วัย 95 ปี

09 เม.ย. 2565 | 05:34 น.

“ศ.เสน่ห์ จามริก” ราษฎรอาวุโส และนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังเป็นประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์คนนแรก เสียชีวิตอย่างสงบแล้ว ด้วยวัย 95 ปี ลูกศิษย์ร่วมแสดงความอาลัย

นายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิลปินศรีบูรพา โพสต์เฟซบุ๊ก Sinsawat Yodbangtoey ระบุว่า ขอแสดงความเสียใจยิ่งจากการจากไปของศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก (2570 - 2565) ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ท่านแรก โดยมีผู้เข้ามาแสดงความอาลัยจำนวนมาก

 

สำหรับประวัติของศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 (อายุ 95 ปี) ที่จังหวัดพิจิตร

 

ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ถือเป็นราษฎรอาวุโส และนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงประธานสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

การศึกษา

  1. มัธยมปลาย โรงเรียนวัดราชบพิธ
  2. ปี 2491 ธรรมศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
  3. ปี 2500 ปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร

 

ประวัติการทำงานและผลงาน

  • กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
  • กรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ
  • ปี 2503-2530 อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนเกษียณอายุราชการ
  • ปี 2516-2517 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516
  • ปี 2518 ร่วมก่อตั้งสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (ปัจจุบันคือ สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน หรือ สสส.) และได้รับเลือกตั้งเป็นประธาน
  • หัวหน้าโครงการรัฐศาสตร์ศึกษา และหัวหน้าสาขาวิชาการต่างประเทศ
  • ปี 2518 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ปี 2518 ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์
  • ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ยังมีบทบาททางด้านการวิจัยและสนับสนุนการวิจัยหลายด้าน ดังเช่น

  • หัวหน้าโครงการวิจัย "พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย" ของมูลนิธิฟอร์ด และมูลนิธิเอเชีย
  • ประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
  • ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • นายกสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
  • กรรมการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

 

หลังจากเกษียณอายุราชการ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ก็ได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนดีเด่น และทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนอีกหลายแห่ง งานที่ทำล้วนเน้นหนักไปทางด้านชนบท ชุมชนท้องถิ่น สิทธิมนุษยชน ตำแหน่งสำคัญคือ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในระหว่างปี 2544 ถึงปี 2552

 

ก่อนหน้านี้ กษิดิศ อนันทนาธร อดีตผู้จัดการโครงการ 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ได้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ไว้ให้ปรากฏแก่ตาโลกอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนและงานแปลของเขา งานด้านวิชาการรัฐศาสตร์ งานด้านสิทธิมนุษยชน-สิทธิชุมชน  และงานด้านการพัฒนาชนบท รวมถึงคุณธรรมในการดำเนินชีวิตที่เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น ๆ แต่เสน่ห์ก็เป็นคนธรรมดาที่มีข้อบกพร่อง ซึ่งใคร ๆ สามารถวิจารณ์ได้

 

ข้อมูล : วิกิพีเดีย