7 เมษายน วันอนามัยโลก กับ 5 เทรนด์ควรรู้ กับวิถีดูแลสุขภาพคนยุคใหม่

06 เม.ย. 2565 | 22:00 น.

7 เมษายน วันอนามัยโลก กับ 5 เทรนด์ จุดเปลี่ยนวิถีดูแลสุขภาพของคนยุคใหม่ ด้วยแนวคิด ควบคุม ป้องกัน และรักษาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคนิคการแพทย์ที่ควรรู้

7 เมษายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้เป็นวันอนามัยโลก (World Health Day) เป็นหมุดหมายที่สำคัญในการรณรงค์ด้านสุขภาพของคนทั่วโลก ทั้งในแง่การควบคุม ป้องกัน แก้ปัญหา และส่งเสริม ให้เกิดความทั่วถึง อย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียมกัน

7 เมษายน วันอนามัยโลก

ในปี 2565 นี้มีการกำหนดหัวข้อรณรงค์ไว้ว่า “Our planet, our health” สืบเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 และสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว ผลกระทบทางด้านสุขภาพที่พลเมืองโลกต้องเผชิญนั้นไม่ได้เป็นปัญหาของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เราต่างต้องเผชิญร่วมกัน มีผลกระทบต่อเนื่องกันอย่างเลี่ยงไม่ได้แม้อยู่คนละซีกโลก รวมทั้งทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคนิคการแพทย์ คือพลังสำคัญในการต่อสู้กับช่วงเวลาที่แสนยากลำบากนี้

 

อย่างไรก็ดี N Health ประเมินว่า วิทยาศาสตร์และเทคนิคการแพทย์ จะเป็นจุดเปลี่ยนวิถีดูแลสุขภาพของคนยุคใหม่ที่สำคัญอย่างยิ่งใน พ.ศ. นี้ โดย 5 เทรนด์ที่สำคัญ ได้แก่

 

1. Know Your DNA การตรวจ DNA จะกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เป็นเสมือนการถอดรหัสชีวิต ที่จะบอกว่าพื้นฐานร่างกายของแต่ละคนเป็นอย่างไร มีความสามารถในการรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน เช่น ความทนทานของกล้ามเนื้อในการออกกำลังกาย ความไวต่อแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เป็นต้น ตลอดจนรู้ถึงศักยภาพแฝง เช่น อัจฉริยภาพทางด้านภาษา ดนตรี หรือศิลปะ

7 เมษายน วันอนามัยโลก

2. Dig Deep to The Micro เมื่อก่อนการตรวจสารอาหารในร่างกายทำได้ยาก แต่ตอนนี้สามารถตรวจสารอาหารต่าง ๆ ในร่างกายที่ลึกลงและเล็กลงถึงระดับไมโครได้ เราจึงสามารถเลือกรับประทานอาหารและอาหารเสริมได้อย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไปจนเป็นอันตราย

 

3. Turn Down All Risks การตรวจความเสี่ยงต่อมะเร็ง การตรวจหาสารตกค้าง จะกลายเป็นเรื่องปกติและสามารถทำได้ต่อเนื่อง ด้วยราคาที่เข้าถึงง่ายและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างและความจำเป็นที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงไม่เหมือนกัน การมอนิเตอร์ความเสี่ยงเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ประชาชนสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลสุขภาพให้เหมาะสมได้ตามสภาวะและสถานการณ์ของชีวิต

 

4. Laboratory for Daily Lifestyle การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ จะกลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกสบายขึ้น ราวกับไปเดินห้างหรือเข้าคาเฟ่ ผู้ให้บริการจะหันมาให้ความสำคัญในการบริการมากขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นการมาเจาะเลือดหรือตรวจปัสสาวะเท่านั้น แต่ห้องปฏิบัติการจะกลายเป็นสถานที่ที่เข้าใจไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากขึ้น เช่น การมี Co-working Space หรือ Coffee Bar ตลอดจนการมีการเวิร์กช้อปเกี่ยวกับสุขภาพ หรือเกิดการสร้างคอมมูนิตี้ด้านสุขภาพมากขึ้น

7 เมษายน วันอนามัยโลก

5. Self-Health Planning แผนการดูแลสุขภาพจะมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น มีทั้งเครื่องมือที่สามารถใช้ตรวจได้เอง ยกตัวอย่าง ATK ที่สามารถตรวจโควิด-19 ได้เอง มีทั้งการตรวจสุขภาพแบบมอนิเตอร์ตัวเอง เพื่อเลือกการกินอาหารเสริมหรือออกกำลังกายที่เหมาะสม หรือลดละเลิกพฤติกรรมบางอย่าง หรือเช็กว่ามีความจำเป็นที่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือยัง

 

อย่างไรก็ตามไม่ว่าเทรนด์การดูแลสุขภาพจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เป้าหมายที่สำคัญก็คือการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง ห่างไกลจากภาวะความเจ็บป่วย สามารถดำเนินชีวิตไปข้างหน้าได้ตามปกติได้ในทุก ๆ วัน อย่างยืนยาว เพื่อเติมเต็มความหมายและดื่มด่ำกับการมีชีวิตได้อย่างไร้กังวล