สงครามเปลี่ยน กลยุทธ์ต้องปรับ วัคซีนต้านโควิด19ต้องฉีดอย่างไร อ่านที่นี่

20 มี.ค. 2565 | 09:33 น.
อัพเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2565 | 12:05 น.

สงครามเปลี่ยน กลยุทธ์ต้องปรับ วัคซีนต้านโควิด19ต้องฉีดอย่างไร อ่านที่นี่ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยแนวทางที่เหมาะสม เชื่อการระบาดในไทยข้ารูปการระบาดเป็นตามฤดูกาลหลังสายพันธุ์โอมิครอนทั้ง BA1 และ BA2 จบลง

ศาสตราจารย์ นพ.นิธิ มหานนท์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda โดยระบุข้อความว่า 

 

สงครามเปลี่ยน กลยุทธ์ต้องปรับ

 

ช่วงหลังมีข่าวคราวทั้งจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยเราว่าจะปรับลดระดับความรุนแรงการระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) จากการระบาดใหญ่ (ทั่วโลก) หรือ Pandemic ที่เป็นระดับสูงสุดของการระบาด 

 

มาเป็นระดับต่ำสุดของการระบาด ที่เรียกว่าการระบาดประจำถิ่นหรือ Endemic (ระดับ 1 ของการระบาด) ซึ่งการระบาดประจำถิ่นนี้หมายถึงการระบาดของโรคที่เกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่ ที่มีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์และควบคุมได้ ขอบเขตของพื้นที่การเกิดโรคอาจเป็นเมืองหรือภูมิภาค เช่นโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย โรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา เป็นต้น 
 

การที่เราสามารถคาดการณ์การระบาดได้นั้นจะมีความสำคัญต่อการระวังป้องกันเป็นอย่างยิ่ง เช่นโรคไข้เลือดออกที่ทางภาครัฐเร่งระดมการกำจัดยุงในช่วงท้ายๆ ของฤดูฝน   สำหรับการระบาดของโรคไวรัสทางเดินหายใจเช่นไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดธรรมดานั้น เราทราบว่าในประเทศไทยมักเกิดเป็นฤดูกาลในช่วงฤดูฝนหรือฤดูฝนต่อหนาว 

 

และมีการระบาดตามฤดูกาลอย่างสม่ำเสมอและคาดการณ์ได้ แต่ในประเทศเขตร้อนเช่นประเทศไทยอาจจะมีการระบาดเพิ่มอีกเล็กน้อยหลังจากที่เด็กนักเรียนเปิดเรียนเและแพร่กระจายต่อในผู้ใหญ่  จึงอาจมีการระบาดสองครั้งได้ในบางปี ต่างจากในประเทศทางตะวันตกแถบซีกโลกเหนือที่มักมีการระบาดรุนแรงในฤดูที่อากาศหนาวเย็น 

 

ดังนั้น การระบาดต่อไปของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นโรคระบาดทางเดินหายใจที่จะเป็นการระบาดในระดับต่ำที่ควบคุมได้และคาดการณ์ได้ ก็น่าจะเป็นการระบาดหนักในช่วงฤดูฝนต่อหนาว  เช่นเดียวกับโรคระบาดไวรัสทางเดินหายใจอื่นๆ
 

แต่เราจะคาดการณ์ได้หรือไม่ว่าการระบาดในท้องถิ่นจะมากขึ้นกว่าปกติกลายเป็นระดับที่ 2 ของการระบาดที่เรียกว่า Outbreak หรือจะกระจายในวงกว้างขึ้นออกนอกท้องถิ่นจนเป็นระดับ 3 ของการระบาดที่เรียกว่า Epidemic นั้น ทั้งนี้เพราะระดับความรุนแรงของการระบาดในแต่ละพื้นที่จะขึ้นกับระดับภูมิคุ้มกันของประชากรต่อเชื้อสายพันธุ์ที่ระบาดและมาตรการป้องกันอื่นๆ รวมไปถึงกิจกรรมในสังคมของท้องถิ่นหรือประเทศนั้นๆด้วย

 

ตามความเห็นส่วนตัว ผมคาดว่าโรคระบาดทางเดินหายใจจากโควิด-19 ในประเทศไทยจะเริ่มเข้ารูปการระบาดเป็นตามฤดูกาลหลังจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนทั้ง  BA1 และ BA2 จบลงอย่างแน่นอน 

 

แม้ว่าจะไม่มีวัคซีนใดสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) นี้ได้ดีพอในทุกช่วงอายุ แต่การได้วัคซีนอย่างน้อย 3 เข็มก็สามารถป้องกันการเกิดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้ดีมาก ๆเหมือนกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด (ไม่มีข้อมูลใดๆที่ยืนยันได้ว่า การกระตุ้นหรือได้รับวัคซีนชนิดใดมาก่อนจะดีหรือไม่ดีกว่ากัน

 

วัคซีนต้านโควิด19ควรฉีดอย่างไร

 

มีแต่ข้อมูลว่า สำหรับสายพันธุ์โอมิครอน ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต้องได้รับวัคซีน 3 เข็มเพื่อลดความเสี่ยงในการป่วยหนักหรือเสียชีวิต) นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาที่รายงานว่าในเด็กอายุ 5-11 ปี การได้รับวัคซีน mRNA 2 เข็มไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดีพอ 

 

ผมลองรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของพนักงานที่ทำงานในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์และได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 แล้วมากกว่า 96%  โดยดูจากจำนวนพนักงานโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ 1400 กว่าคนที่ได้รับวัคซีนชนิดต่างๆ ทั้งเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 เข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 กับจำนวนพนักงานที่ติดเชื้อโควิด-19 ระหว่าง 1 มกราคมถึง 16 มีนาคม 2565 (ยังไม่ได้วิเคราะห์รายละเอียดและอยู่ระหว่างรวบรวมเพื่อตีพิมพ์ ) 

 

และพอเห็นเป็นแนวทาง(เปรียบเทียบกันตรงๆไม่ได้นะครับ)ว่า มีการ breakthrough ของการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ในวัคซีนทุกชนิดเหมือนกันหมดประมาณ 3-9% หลังได้เข็มที่ 3 ทุกคนไม่มีอาการรุนแรง

 

ที่น่าสนใจแต่ไม่ได้ปรากฎในตารางคือ การติดเชื้อของพนักงานทุกคนเกิดจากภายนอกโรงพยาบาลแต่ด้วยมาตรการเข้มงวดในการใส่หน้ากาก ล้างมือและรักษาระยะห่างทุกอย่างภายในสถานที่ทำงาน จึงยังไม่มีการติดเชื้อกันภายในโรงพยาบาลจากผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับคนที่มีเชื้อ และพนักงานที่ติดเชื้อทุกคนไม่มีใครมีปอดอักเสบ (โรงพยาบาลทำการตรวจ CT ปอดให้พนักงานที่ติดเชื้อทุกคนในวันที่ตรวจพบและวันที่ 7 และ 14)

 

ดังนั้น สงครามกับโควิด-19 ครั้งนี้เปลี่ยนไปแล้วครับ ผมมีความเห็นว่า

 

1.สำหรับทุกๆคน  ณ ตอนนี้ ได้รับวัคซีน 3 เข็มพอก่อน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไร ถ้าจะฉีดเข็มที่ 4 หรือเข็มต่อไป ต้องหาจังหวะฉีดให้พอดีกับการป้องกันการระบาดในหน้าฝนต่อหนาว (ควรฉีดราวๆ มิถุนายน-สิงหาคมถ้ารอได้) และควรฉีดวัคซีนที่จะป้องกันได้ตลอดฤดูกาล แต่……

 

2.สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรังต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 3 เข็ม ก่อนเข้าเดือนเมษายนนี้เพราะจะเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีการเคลื่อนที่ของคนมาก ทั้งเทศกาลเช็งเม้งและสงกรานต์ เพราะคนกลุ่มนี้จะมีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ถ้าได้วัคซีนแค่ 2 เข็มหรือน้อยกว่านั้นแล้วได้รับเชื้อ (ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข คนกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนแค่ 30% เองครับ) 

เป็นผม สองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ควรจะรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โดยไปให้ถึงตัว ทำความเข้าใจ อธิบายให้ง่าย ๆ ให้คนยอมรับวัคซีนให้ได้ 3 เข็ม ไม่ควรตั้งรับให้ต้องเดินเข้ามาหา วัคซีนต้องเดินไปหาคนกลุ่มนี้ 

 

3.สำหรับเด็กนักเรียนนักศึกษา ผมเห็นต่างจากที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน การให้เรียนออนไลน์แล้วปิด ๆเปิด ๆ โรงเรียน ผมเห็นว่าควรให้เปิดเรียนเป็นปกติ เพราะในเด็ก(ที่ไม่มีโรคประจำตัว) จะไม่ป่วยหนัก และไม่เสียชีวิตง่าย ๆ แม้จะได้รับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้รับเลย แต่ต้องมีมาตรการดังนี้นะครับ 

 

3.1 เด็กที่มีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม 

 

3.2 เด็กที่มีอาศัยอยู่กับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังในบ้านเดียวกัน ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังเหล่านั้นต้องได้รับวัคซีน 3 เข็มเป็นอย่างน้อย 

 

3.3 โรงเรียนต้องมีมาตรการการป้องกันที่เข้มงวด และปรับสถานที่โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายเทอากาศและการรักษาความสะอาดให้ถูกต้อง 

 

3.4 โรงเรียนและผู้ปกครองต้องเข้มงวดไม่ให้เด็กที่มีอาการผิดปกติของทางเดินหายใจหรือมีไข้ใด ๆไปโรงเรียน แม้ว่าผลการตรวจ ATK หรือ RTPCR จะเป็นลบ ให้ถืออาการเป็นสำคัญมากกว่าผลตรวจ เพราะเชื้อโอมิครอนมีระยะฟักตัวที่สั้นมาก สามารถติดเชื้อได้หลายวันก่อนจะตรวจพบ 

 

4.มาตรการอื่น ๆ ของประเทศในการป้องกันยังต้องเข้มข้นต่อไป ทั้งการรักษาระยะห่างและการปรับระบบอากาศในอาคารสถานที่ต่าง ๆ ให้เหมาะสม ไม่ต้องไปตามก้นฝรั่งในการผ่อนผันการใส่หน้ากาก เพราะมาตรการเหล่านี้ มีข้อมูลยืนยันแล้วว่าป้องกันการแพร่กระจายได้ดีมาก ๆ ไม่ต้องล็อกดาวน์ เพราะทุกคนเข้าใจแล้วว่าต้องปรับและป้องกันกันอย่างไร ไม่มีผู้ประกอบการใด ๆ ที่อยากปล่อยให้มีการติดแพร่เชื้อในที่ของตัวเองอย่างแน่นอน

 

ถ้าทำได้อย่างนี้ อีกไม่นานเราก็จะอยู่กับมันได้ โรคมันก็จะอยู่กับเราแบบเข้าใจกัน แต่เมื่อข้าศึกปรับตัว เราก็ต้องเปลี่ยนยุทธวิธีครับ ไม่งั้นรบทีไร เราก็จะแพ้ทุกที