ไทยเตรียมนำเข้ายา แพกซ์โลวิด กลางเดือนเมษายนนี้

20 มี.ค. 2565 | 01:30 น.

สาธารณสุข เตรียมนำเข้า ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) รักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลางเดือนเมษายนนี้ ชี้ ช่วยลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลลง 88% กรณีให้ยาภายใน 5 วันหลังมีอาการ

20 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการเเพทย์ กล่าวถึง ภาพรวมการรักษาโควิด-19 ด้วยยาต้านไวรัสว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ มีการใช้มากว่า 2 ปี แล้ว สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น

ขณะเดียวกันได้มียารักษาผู้ป่วยโควิด19 อีกตัวคือ ยา เรมดิซิเวียร์ ออกฤทธิ์ตำแหน่งเดียวกับยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่ได้รับการรับรองจาก อย.สหรัฐฯ ให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน เป็นยาที่ให้ผ่านหลอดเลือดดำ มีประโยชน์กับกลุ่มที่ทานยาไม่ได้และมีปัญหากับการดูดซึมยา โดยหญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ได้ จากการศึกษาพบว่า สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการลดลง นอนโรงพยาบาลน้อยลง

ยาโมลนูพิราเวียร์ อยู่ระหว่างกระบวนการเตรียมความพร้อมกระจาย หลังได้รับอนุญาตจาก สธ. และ ศบค. เรียบร้อยแล้ว กลไกออกฤทธิ์จุดเดียวกับยาฟาวิพิราเวียร์ ช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรง

ส่วนยาแพกซ์โลวิด  (Paxlovid) กำลังดำเนินการจัดหาเข้ามา มีกลไกการออกฤทธิ์ที่เอนไซม์ทำให้เชื้อลดจำนวนลง ไม่สามารถเกิดผลกับโรคได้ ช่วยลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลลง 88% กรณีให้ยาภายใน 5 วันหลังมีอาการ คาดว่าจะเข้ามาในกลางเดือนเมษายนนี้

จากการติดตามการใช้ยามาสักระยะ พบว่า แต่ละตัวมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เช่น เรมดิซิเวียร์ช่วยกลุ่มอาการปานกลาง ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ ยาฟาวิพิราเวียร์ให้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 2 และ 3 แต่โมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิด มีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร รวมถึงเป็นยาใหม่จึงมีราคาสูงถึงคอร์สละ 10,000 บาท ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ราคาคอร์สละ 800 บาท และเรมดิซิเวียร์ 1,512 บาท