“ชาญชัย” จี้คพ.แจ้งศาลแพ่งอายัดค่าโง่คลองด่าน ตามก.ม.ฟอกเงิน

19 มี.ค. 2565 | 04:19 น.

“ชาญชัย อิสระเสนารักษ์”ชี้ตามพรบ.ฟอกเงิน กรมควบคุมมลพิษต้องแจ้งให้ศาลแพ่งอายัด “ค่าโง่คลองด่าน”ให้ตกเป็นของแผ่นดินก่อน

วันนี้ (19 มี.ค.65) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานอนุกรรมาธิการการปฎิรูปกฎหมายเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (สปท.) กล่าวว่า จากการที่ตนได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 ถึงการเสนอแนวทางการต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับบริษัทเอกชนในคดีการทุจริตโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ หรือ ค่าโง่คลองด่าน ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายว่าด้วยการฟอกเงิน มาตรา 3(5) ไปนั้น 

 

ขณะที่เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกระทรวงการคลัง และให้บังคับตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ คดีหมายเลขดำที่ อ.285/286/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.487-488/2557 ที่พิพากษาให้ชำระเงินจำนวนกว่า 9,000 ล้านบาท แก่กลุ่ม 6 บริษัทเอกชนตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น 

ศาลจะได้วินิจฉัยในประเด็นที่จะให้กรมควบคุมมลพิษซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องชำระ เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่กลุ่ม 6 บริษัทเอกชนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาตัดสินคดีใดแล้วถือได้ว่าคดีนั้นเป็นอันยุติ และต้องบังคับตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดนั้นต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 กรมควบคุมมลพิษและคณะกรรมการ ป.ป.ช ได้นำเรื่องการทุจริตของบรรดานักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งเอกชนที่ร่วมกันฉ้อราษฎร์บังหลวงแผ่นดิน การกระทำของกลุ่มคนดังกล่าวย่อมเป็นผลทำให้สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างรัฐและกลุ่ม 6 บริษัทเอกชนไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนในที่สุดศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุกนายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นเป็นเวลา 10 ปี

ตามคดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 และศาลอาญา (รัชดา) ได้มีคำพิพากษาจำคุก นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ ขณะดำรงตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 คนละ 20 ปี และต่อมาภายหลัง ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา อาญา เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ.4197/2558

 

นอกจากนี้ยังมีคดีที่ศาลแขวงดุสิต หมายเลขแดงที่ 3501/2552 ได้ดำเนินการสั่งฟ้องกลุ่ม 6 บริษัทเอกชน ร่วมกับพวกรวม 19  คน โดยมีบริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด และ นายสังวร ลิปตพัลลภ ถูกดำเนินคดีอาญาฐานฉ้อโกง ซึ่งศาลแขวงดุสิตรับฟ้องแล้วพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 

 

โดยปรับจำเลยที่เป็นนิติบุคคลรวมจำเลยที่ 4 ที่เป็นบริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด รายละ 6,000 บาท และจำคุกบุคคลที่เป็นจำเลยคนละ 3 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง และปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

 

นายชาญชัย กล่าวว่า คดีอาญาทั้ง 3 คดีนี้ ถือเป็นคดีประธาน และเป็นต้นเหตุนำมาซึ่งการดำเนินมาตรการทางแพ่งตาม ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (5)(15)(18) ซึ่งในปัจจุบันศาลฎีกาในคดีแพ่งมีคำพิพากษาซึ่งเป็น 1 ใน 4 คดีที่ให้ริบทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เงินที่กรมควบคุมมลพิษชำระให้แก่กลุ่ม 6 บริษัทเอกชนตกเป็นของแผ่นดิน ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้เหตุผลไว้ว่า 

 

… การพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสุดสุดเป็นการวินิจฉัยในลักษณะของการพิจารณาถึงข้อสัญญาและการกระทำของคู่สัญญาในการแพ่งเป็นสาระสำคัญ แสดงว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเอกชนว่าได้กระทำความผิดมูลฐานที่จะริบเงินตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อีกทั้งปัญหาว่าการกระทำของผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานหรือไม่ เป็นการวินิฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญา จึงไม่อาจเอาข้อวินิจฉัยในคดีแพ่งหรือคดีปกครองมาผูกพันการรับฟังข้อเท็จจริงในทางอาญาได้….

 

นอกจากนี้ กระบวนการในชั้นปกครองก็แตกต่างจากกฎหมายว่าด้วยการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งที่มุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐาน เพราะถึงอย่างไรทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ไม่เป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ใด เพื่อตัดวงจรการกระทำความผิดมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ปรากฎตามคำพิพากษารายละเอียดปรากฎตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3299/2564 หน้า 9-12 และ 19

 

ด้วยเหตุนี้ นายชาญชัย จึงเห็นว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ชำระเงิน จำนวนกว่า 9,000 ล้านบาท แก่กลุ่ม 6 บริษัทเอกชน กรมควบคุมมลพิษ ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา 

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่กรมควบคุมมลพิษจะชำระเงินให้แก่กลุ่ม 6 บริษัทเอกชน กรมควบคุมมลพิษต้องแจ้งให้ศาลแพ่งทราบ เพื่อให้ศาลแพ่งดำเนินการอายัดเงินให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (5)(15)(18) และมาตรา 51 ต่อไป 

 

พร้อมกับได้ให้ข้อสังเกตในทางวิชาการอีกด้วยว่า ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ส่วนศาลฎีกาในคดีแพ่งก็พิจารณาพิพากษาคดีไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอาญาและตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ดำเนินมาตรการแพ่งให้ทรัพย์ที่เกิดจากการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ