คำสอน “สมเด็จพระวันรัต” ต้องระวัง “โลภะ โทสะ โมหะ” รากเหง้าของคนชั่ว

16 มี.ค. 2565 | 04:22 น.

เปิดคำสอนของ “สมเด็จพระวันรัต” เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเคยสอนให้ระวังการคบคนชั่วที่มี "โลภะ โทสะ โมหะ"  

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 “สมเด็จพระวันรัต : พฺรหฺมคุตฺโตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร มรณภาพ ละสังขาร ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 

ฐานเศรษฐกิจ ได้ย้อนนำคำสอนของ “สมเด็จพระวันรัต” ซึ่งเผยแพร่อยู่ในแฟนเพจ “วัดบวรนิเวศวิหาร” @WatBovoranivesVihara ระบุชื่อเรื่องว่า มาเฟียแห่งความชั่ว 3 ราย

 

วันหนึ่งระหว่างฉันภัตตาหารร่วมกันกับพระบวชใหม่  สมเด็จฯ ท่านก็ถามขึ้นมาว่า  "เราคบคนชั่วกันอยู่บ้างรึเปล่า ? " 

สมเด็จพระวันรัต : พฺรหฺมคุตฺโต” เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

คำถามนี้เล่นเอาพระบวชใหม่ทั้งหลายสะดุ้ง ไปต่อกันไม่ถูกเลยที่เดียว และต่างพากันนึกถึงคนรอบตัวว่ามีใครเข้าข่ายคนชั่วบ้างหรือไม่กันยกใหญ่

 

ท่านคงเห็นอาการที่กำลังนั่งคิดของแต่ละรูป จึงพูดต่อไปว่า  "ไม่ต้องไปนึกถึงใครอื่นไกลนะ คนชั่วที่อยู่ในตัวของเรานั่นล่ะ" 

 

คราวนี้ทุกคนยิ่งสะดุ้งหนักกว่าเดิม แต่เป็นอาการสะดุ้งที่มาพร้อมกับปัญญาที่ถูกสะกิดให้คิดพิจารณาท่านสอนว่า ถ้าเราคบคนชั่วในตัว 3 คน คือ  "โลภะ โทสะ โมหะ "

 

คนชั่วในตัวเหล่านี้ก็จะชักพาให้เราไปคบกับคนชั่วนอกตัวที่มีลักษณะเดียวกัน ดังนั้นเราจึงต้องพิจารณาให้ดีว่า เราคบหากับคนชั่วในตัวมากน้อยเพียงใด

สมเด็จพระวันรัต : พฺรหฺมคุตฺโต” เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

เมื่อผมมาค้นคว้าเพิ่มเติมจึงพบว่า ทั้ง ๓ คน ที่ท่านเอ่ยถึงนั้นทรงอิทธิพลถึงขั้นเรียกว่าเป็น "มาเฟียของคนชั่ว" ก็ว่าได้ เพราะ 3 คนชั่วนี้ มักจะดึงเราให้ไปคบกับคนชั่วรายใหม่ ๆ หรือถ้าเราคบคนชั่วรายอื่นอยู่บ้างแล้ว มาเฟียทั้ง 3 รายนี้ก็จะส่งเสริมให้คนชั่วอื่น ๆ  ในตัวเราเจริญรุ่งเรืองและแผ่อิทธิพลความชั่วมากขึ้นไปอีก 

 

ลองมารู้จักมาเฟียแห่งความชั่วทั้ง 3 รายที่ว่านี้กัน

 

"โลภะ" คือ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอเสมือน "ไฟไม่รู้จักพอด้วยเชื้อ มหาสมุทรไม่รู้จักเต็มด้วยน้ำ"  หากเรามีความอยากไม่เกินขอบเขต ไม่ออกนอกลู่นอกทางแห่งความสุจริต ก็ย่อมเป็นประโยชน์กับการก่อร่างสร้างตัว 

 

แต่หากไม่เคยพอก็มักจะจ้องหาช่องทางหาเอาเพิ่ม เอาอีก เอามากขึ้น อยากไต่บันไดให้สูงขึ้นตลอดเวลา โดยไม่เลือกวิธีการจนนำไปสู่การแสวงหาในทางทุจริต และเป็นโทษกับตนในที่สุด อาการสำคัญแห่งโลภะที่สังเกตได้ง่ายแต่อาจไม่รู้ตัวก็คือ ความเห็นแก่ตัว 

สมเด็จพระวันรัต : พฺรหฺมคุตฺโต” เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

ทั้งนี้ "การเลิกคบโลภะ" เริ่มต้นได้ด้วย "การให้ทาน" โดยควรทำทานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความอยากในตนให้ลดน้อยลงจนสลายไปในที่สุด

 

"โทสะ" คือ ความโกรธ คิดประทุษร้าย คิดล้างผลาญ เมื่อถูกความโกรธครอบงำ ระงับความโกรธไม่อยู่ ก็มักจะก่อกรรมทำเข็ญอย่างรุนแรง ทำร้ายบุคคลที่ทำให้โกรธไม่ได้ ก็ล้างผลาญทรัพย์สินของเขา  ทำร้ายญาติมิตรของเขา คนรอบตัวเขา เราน่าจะเคยเห็นตัวอย่างร้ายแรงของคนเจ้าโทสะกันมาบ้าง เราจึงต้องระวังรักษาตัวเราให้ดี หมั่นถามคนรอบข้างดูบ้างว่าเราเป็นคนมีโทสะแรงไหม บ่อยไหม ต้องพยายามลดการคบหาโทสะให้น้อยลงไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้เรากลายเป็นคนเจ้าโทสะ 

 

ทั้งนี้ "การเลิกคบโทสะ" ทำได้ด้วย "การเจริญเมตตา" แปลว่า การฝึกจิตให้คิดอยากเห็นผู้อื่น มีความสุขอยู่เสมอ ๆ ถ้าเราพยายามเข้าใจเขา มีเมตตาต่อเขา ความโกรธก็ยากที่จะดำรงอยู่ได้ ทำเช่นนี้สม่ำเสมอ โทสะก็จะห่างไกลไปเอง

 

"โมหะ" คือ ความหลง ความงมงาย รู้อะไรแบบไม่แจ่มแจ้ง แยกแยะผิดชอบชั่วดีไม่ออก ถือเป็นคนมืดและย่อมทำความผิดต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ผิดเล็กน้อยไปจนถึงผิดร้ายแรง ความหลงมักนำไปสู่ทัศนคติ พฤติกรรมที่สะท้อนความเขลาเบาปัญญา เช่น ลบหลู่คุณคน ตีตนเสมอท่าน อิจฉาริษยา โอ้อวดเกินจริง หูเบา คือฟังคำคนแล้วเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง มัวเมาในสิ่งที่ทำโดยไม่ฟังคำเตือนจากใครเลย เกียจคร้าน ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่เร่งทำในสิ่งที่พึงทำในเวลา เป็นต้น 

 

ทั้งนี้ "การเลิกคบโมหะ" ทำได้ด้วย "การหมั่นใช้ปัญญา" เท่านั้น ต้องหมั่นคิดพิจารณาแยกแยะชั่วดีให้แจ่มแจ้ง โดยเริ่มต้นจากการเปิดหู เปิดตา เปิดใจ คิดพิจารณาข้อมูลให้รอบด้าน แม้สิ่งนั้นจะไม่ต้องจริตของเราก็ตาม ปัญญาเป็นเสมือนมีดที่ลับบ่อย ๆ ก็จะคม และช่วยกรีดผ่านมายาทั้งหลายให้เราเห็นผิดชอบได้ชัดแจ้งขึ้น ทำให้ห่างไกลจากโมหะได้ง่ายขึ้น

 

"โลภะ โทสะ โมหะ" ขึ้นชื่อว่าเป็น "มาเฟีย" เป็น "รากเหง้าแห่งความชั่ว" ก็แปลว่าจัดการไม่ง่าย แต่ไม่ได้แปลว่าจัดการไม่ได้ 

 

มาเริ่มขบวนการกวาดล้างมาเพีย และคนชั่วรายอื่น ๆ ในตัวของเราพร้อมกัน

 

 

#อาหารบำรุงชีวิตสูตรสมเด็จ
#สมเด็จพระวันรัต
#มาเฟียแห่งความชั่วร้าย
#โลภ
#โกรธ
#หลง