โอมิครอน-เดลตา รุนแรงต่างกันแค่ไหน ทำให้มีคนตายแล้วเท่าไหร่ เช็กเลย

13 มี.ค. 2565 | 02:57 น.

โอมิครอน-เดลตา รุนแรงต่างกันแค่ไหน ทำให้มีคนตายแล้วเท่าไหร่ เช็กเลย หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลเปรียบเทียบทั้ง 2 สายพันธุ์ เตือนระวังไวรัสโอมิครอนกลายพันธุ์ BA.2.2 ที่เกิดขึ้นในฮ่องกงเข้าไทย

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

เสียชีวิตจากโอมิครอน (Omicron) เกินกว่า 2000 รายแล้ว จากผู้ติดเชื้อเกือบ 1 ล้านราย อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าไวรัสเดลตา 4.6 เท่า

 

โควิดระลอกที่สี่ของไทย ที่เริ่มมาตั้งแต่มกราคม 2565 มีไวรัสโอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลัก

 

ซึ่งแตกต่างจากไวรัสเดลตาที่เป็นสายพันธุ์หลักในโควิดระลอกที่สามคือ

 

  • ความรุนแรง 

 

จากข้อมูลที่ผ่านมา พบว่าสถิติตัวเลขต่างๆในประเทศไทย สอดคล้องกับความจริงดังกล่าวคือ อัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโอมิครอนเทียบกับไวรัสเดลตาน้อยกว่า 4.66 เท่า

 

โดยมีผู้เสียชีวิต 2014 ราย

 

จากผู้ติดเชื้อ 961,390 ราย

 

คิดเป็น 0.21%

ในขณะที่ผู้เสียชีวิตจากเดลตา

 

มีจำนวน 21,604 ราย

 

จากผู้ติดเชื้อ 2,194,572 ราย

 

คิดเป็น 0.98%

 

อัตราการเสียชีวิตจากโอมิครอน

 

จึงน้อยกว่า 4.66 เท่า

 

โอมิครอน-เดลตา รุนแรงต่างกันแค่ไหน ทำให้มีคนตายแล้วเท่าไหร่

 

อย่างไรก็ตาม ไวรัสโอมิครอนมีความแตกต่างกับไวรัสเดลตาอย่างมากคือ ทำให้มีการติดเชื้อแล้วไม่มีอาการมากถึง 50% และมีอาการเล็กน้อย 45%

 

ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนมาก จะตรวจหาโควิดด้วยตนเองที่เรียกว่า ATK แทน PCR เมื่อผลเป็นบวก เรียกว่าผู้ติดเชื้อเข้าข่าย

 

ทำให้ขณะนี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายเพิ่มอีก 702,631 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรวม 1,640,437 ราย

 

ถ้าคำนวณอัตราการเสียชีวิต โดยใช้จำนวนผู้ติดเชื้อรวมผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วย อัตราการเสียชีวิตเสียชีวิตจะลดลงไปเป็น 0.12%

 

เมื่อเทียบกับไวรัสเดลตาแล้ว อัตราการเสียชีวิตจะน้อยกว่าถึง 8.16 เท่า

  • ความสามารถในการแพร่ระบาด

 

จะพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันด้วยวิธี PCR ขึ้นมามากกว่าจุดสูงสุดของไวรัสเดลต้าในระลอกที่แล้วที่จำนวน 23,418 ราย และถ้ารวมจำนวนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยแล้ว ไวรัสโอมิครอนได้ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมสูงสุดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 คือจำนวน 72,478 ราย

 

ดังนั้นโควิดระลอกสี่ของไทยจึงอยู่ในลักษณะที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก มากกว่าไวรัสเดลตาในระลอกที่ 3 หลายเท่าตัว

 

แต่มีจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิต น้อยกว่าไวรัสเดลต้าพอสมควร

 

ถ้ามีการบริหารจัดการและทำความเข้าใจกับผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาการและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงให้รักษาตัวแบบผู้ป่วยนอก OPD : เจอ แจก จบ ) ซึ่งขณะนี้ก็ทำได้ค่อนข้างดี

 

จะทำให้ผู้ป่วยอาการปานกลางและผู้ป่วยหนักซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า จะมีเตียงในโรงพยาบาลที่เพียงพอในการดูแลรักษา  อันจะส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตไม่มากจนเกินไป

 

โดยมีข้อที่พึงระมัดระวัง ที่อาจส่งผลให้ลักษณะดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงไปคือ

 

ไวรัสโอมิครอนกลายพันธุ์ BA.2.2 ที่เกิดขึ้นในฮ่องกง และทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากกว่าไวรัสโอมิครอนปกติเป็นจำนวนมาก

 

ถ้ามีการแพร่ระบาดของ BA.2.2 เข้ามาในประเทศไทย อาจทำให้มีผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมากได้

 

จึงต้องเข้มงวดกวดขัน และเร่งวางมาตรการการป้องกันไม่ให้ไวรัสดังกล่าวเข้าประเทศไทยต่อไป

 

วันนี้ 13 มีนาคม 2565

 

  • ติดเชื้อเพิ่ม 23,584 ราย
  • ติดในสถานกักตัวตัว 67 ราย
  • สะสมระลอกที่สี่ 961,390 ราย
  • สะสมทั้งหมด 3,208,534 ราย
  • หายป่วย 22,333 ราย
  • สะสมระลอกที่สี่ 765,286 ราย
  • รักษาตัวอยู่ 227,336 ราย
  • เสียชีวิต 66 ราย
  • สะสมระลอกที่สี่ 2014 ราย
  • สะสมทั้งหมด 23,709 ราย