อัพเดทอาการโควิดล่าสุด แบบไหนต้องตรวจ ATK เช็คเลย

11 มี.ค. 2565 | 09:10 น.

เช็คอาการโควิดล่าสุด กรมการแพทย์ เผย ปัจจุบันผู้ป่วยติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ ไอ-เจ็บคอ-เป็นไข้-ถ่ายเหลว หากมีอาการแบบนี้ แนะนำให้ตรวจ ATK ทันที

11 มีนาคม 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงอาการของผู้ป่วยโควิด 19 ในปัจจุบันที่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ 50% ไม่มีอาการ ส่วนที่มีอาการจำแนก เป็น ไอและเจ็บคอ 50% อ่อนเพลีย เป็นไข้ 30-40% และถ่ายเหลว 10% ทั้งนี้ อาการโควิดใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดแล้วแต่ช่วงนี้ที่ต้องระวังเพิ่มขึ้นอาจจะเจอโรคไข้เลือดออกได้ ซึ่งจะมีอาการไข้ อ่อนเพลียเหมือนกัน

ดังนั้น หากสงสัยว่า ตัวเองมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือแม้แต่ถ่ายเหลว เบื้องต้นให้ตรวจ ATK ได้ทันที หากเป็นผลลบให้สังเกตอาการตัวเองใน 48 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการโรคอื่น ๆ เช่น ไข้เลือดออก

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการป้องกันติดเชื้อสูงสุด ติดเชื้อแล้วก็ต้องกักตัวเอง เพราะแม้จะไม่มีอาการรุนแรง แต่หากไปพบคนอื่นที่ภูมิต้านทานน้อย มีโรคร่วมก็จะมีความเสี่ยง

ส่วนการดูแลผู้ติดโควิดแบบผู้ป่วยนอก (OPD) พื้นที่ กทม.นั้น รพ.สังกัดกรมการแพทย์ใน กทม. เช่น โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้วันละ 1,000 ราย ทั้งจาก คลินิกโรคไข้หวัด (ARI Clinic) ซึ่งผู้ติดเชื้อ 70% เลือกรักษาแบบ OPD และอีก 20-30% เลือกรักษาแบบ HI และการออก QR Code เพื่อให้ผู้ป่วยเก่าส่งต่อให้ผู้อื่นเพื่อเข้าระบบบริการ สัดส่วนเลือกรักษาแบบ OPD 60% และรักษา HI อีก 30-40%

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังทำ QR Code ส่วนกลางขึ้นมาแบ่งเบาภาระสายด่วน 1330 ให้ได้วันละ 1,000-2,000 ราย

"เรากำลังเข้าสู่การเปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่น จึงต้องปรับเปลี่ยนการดูแล เน้นรักษาที่บ้าน (HI) และแบบ OPD ซึ่งเดิม HI เราบริการอาหาร 3 มื้อ เพื่อลดการออกไปซื้ออาหารนอกบ้าน ส่วน OPD มีการติดตามใน 48 ชั่วโมง และไม่มีบริการอาหาร 3 มื้อ เนื่องจากเราประเมินความพร้อมของผู้ป่วยด้วย เช่น มีญาติส่งอาหาร หรือผู้ป่วยสั่งอาหารเองได้ ก็ให้อยู่ในบ้านดูแลตัวเอง เป็นตามปรับตามสถานการณ์ นพ.สมศักดิ์ ระบุ

สำหรับความพร้อมของโรงพยาบาลเพื่อรองรับ UCEP Plus กลุ่มอาการสีเหลืองและสีแดงนั้น ทุก รพ.รองรับได้อยู่แล้ว ทั้ง รพ.รัฐ และเอกชน แต่ที่กังวล คือ กลุ่มสีเขียวที่อาการเปลี่ยนแปลง อาจจะต้องจัดระบบที่ดีจากสิทธิสุขภาพนั้น ๆ เช่น บัตรทอง ประกันสังคม ต้องประกาศเกณฑ์ให้ชัดเจนว่า หากติดเชื้อแล้วมีอาการเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยสามารถเข้า รพ.ในเครือข่ายได้ทุกแห่งหรือไม่อย่างไร ต้องรอประกาศเกณฑ์ตรงนี้

ส่วนอาการที่บ่งบอกว่า เป็นสีเหลือง สีแดงที่เข้า UCEP Plus นั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะเป็นผู้ประกาศ UCEP Plus ให้มีผลบังคับใช้ โดยตกลงกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยกรมการแพทย์ให้ข้อมูลทางวิชาการไปแล้วเพื่อจัดระบบบริการฉุกเฉินต่อไป