อาการโควิด19โอไมครอน กลุ่มไหนเสี่ยงเป็น Long COVID ผิดปกติต่อร่างกายส่วนใด

24 ก.พ. 2565 | 19:11 น.

อาการโควิด19โอไมครอน กลุ่มไหนเสี่ยงเป็น Long COVID ผิดปกติต่อร่างกายส่วนใด หมอธีระชี้เป็นปัญหาระยะยาวที่จำเป็นต้องระวัง

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

Long COVID (ลอง โควิด) คือปัญหาระยะยาวที่จำเป็นต้องระวัง

 

คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 (Covid-19) นั้นไม่ว่าจะเป็นแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง เมื่อรักษาหายแล้ว ก็มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้ราว 20-40%

 

ผู้ใหญ่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้มากกว่าเด็ก

 

ผู้หญิงเสี่ยงกว่าผู้ชาย

 

แต่เหนืออื่นใด ทุกเพศ ทุกวัย มีโอกาสเป็น Long COVID ได้

 

ด้วยความรู้ทางการแพทย์ขณะนี้ เชื่อว่าภาวะผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกายของคนที่เคยมีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนนั้น มีสาเหตุหลักมาจาก 2 กลไกที่เป็นไปได้คือ
 

  • หนึ่ง ติดเชื้อแล้วทำให้เกิดภูมิต้านทานต่อต้านตนเอง หรือเรียกว่า Auto-antibody 

 

  • สอง ติดเชื้อแล้วทำให้เกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรังต่อเนื่องในระบบต่างๆ อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย จนทำให้อวัยวะนั้นทำงานผิดปกติ

 

น้ำหนักของกลไกที่สองนั้นดูมีงานวิจัยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ชี้ให้เห็นเรื่องนี้ และเป็นสาเหตุของอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ระบบประสาท ทำให้มีปัญหาเรื่องความคิดความจำถดถอย ไม่มีสมาธิ 

 

รวมถึงภาวะทางจิตเวช อาทิ เครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ 

 

Long COVID ปัญหาระยะยาวที่จำเป็นต้องระวัง

 

อาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น เหนื่อยหอบ รวมถึงปัญหาทางเดินอาหาร กระดูกและข้อ ผิวหนัง ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ที่มีงานวิจัยชัดเจนคือ การทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อหลายเท่า

แม้จะติดเชื้อผ่านมาแล้วนานถึง 12 เดือนก็ตาม ทั้งเรื่องหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง ลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดต่างๆ จนทำให้เสียชีวิตได้

 

ในเด็กนั้น US CDC ก็ระบุ เตือนให้ระวังเช่นกัน เพราะเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนนั้น จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งถือเป็นโรคที่เป็นแล้วเรื้อรังตลอดชีวิต

 

ความรู้ข้างต้นเป็นสิ่งที่ต้องย้ำเตือนให้พวกเราทุกคนตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งเครัด ตั้งเป้าอย่าให้ตัวเราและครอบครัวติดเชื้อ เพื่อจะได้เลี่ยงภาวะผิดปกติของร่างกายระยะยาวหรือ Long COVID

 

หากเกิดขึ้น จะส่งผลทำให้สมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวันเสื่อมถอยลง รวมถึงสมรรถนะในการทำงานด้วย เป็นผลกระทบทั้งทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม 

 

ประเทศอื่นที่ระบาดหนัก ติดเชื้อกันมาก ล้วนกำลังเผชิญปัญหา Long COVID และมีการจัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชนและภาควิชาการ เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐดำเนินการสร้างระบบบริการดูแลรักษา รวมถึงให้คำปรึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้

 

ไทยเรา  รัฐบาล หน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย รวมถึงภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ก็จำเป็นต้องเตรียมแผนเรื่องนี้เช่นกัน ควรทำอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้

 

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด