โควิดประเทศไทยวันนี้ระบาดรุนแรง อัพเดดทยา ivermectin มีประสิทธิภาพแค่ไหน

19 ก.พ. 2565 | 01:30 น.

โควิดประเทศไทยวันนี้ระบาดรุนแรง อัพเดดทยา Ivermectin มีประสิทธิภาพแค่ไหน หมอธีระเผยไม่ได้ผลในการป้องกันการป่วยรุนแรงที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

19 กุมภาพันธ์ 2565 ทะลุ 421 ล้านแล้ว

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,868,169 คน ตายเพิ่ม 9,679 คน รวมแล้วติดไปรวม 421,890,616 คน เสียชีวิตรวม 5,891,244 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน รัสเซีย บราซิล เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 98% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 95.05%

 

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 50.85% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 37.4%

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

มองการระบาดของโลก

 

ข้อมูลจาก Worldometer พบว่า ทั่วโลกจำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ลดลง 21% เป็นขาลงชัดเจน และจำนวนการเสียชีวิตรายสัปดาห์ก็ลดลง 7%

 

อย่างไรก็ตาม มีเพียงทวีปเอเชีย และโอเชียเนีย ที่มีจำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ที่ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลกคือ 11% และ 8% ตามลำดับ บ่งชี้ให้เห็นว่าการระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และยังหนักกว่าทวีปอื่นๆ

 

ทวีปเอเชียนั้นมีถึง 14 ประเทศ ที่ยังมีจำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงไทยเราด้วย

 

โควิดไทยยังระบาดรุนแรง

 

เจาะลึกที่ไทย มีติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์เพิ่มขึ้นสวนกระแสโลก 38% และตายเพิ่มขึ้น 28%

 

อัพเดตงานวิจัย

 

"ยาฆ่าพยาธิ Ivermectin (ไอเวอร์เม็กติน) ไม่ได้ผลในการป้องกันการป่วยรุนแรงในผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 (Covid-19) ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง"

 

Lim SCL และทีม จากประเทศมาเลเซีย เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารการแพทย์ระดับสากล JAMA Internal Medicine วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา
 

ทำการศึกษาแบบ Open label randomized controlled trial ในโรงพยาบาล 20 แห่ง และสถานที่กักตัวอีก 1 แห่ง ตั้งแต่ 31 พฤษภาคมถึง 25 ตุลาคม 2564 ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 490 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลรักษามาตรฐาน 

 

เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้การรักษามาตรฐานร่วมกับการให้ยา Ivermectin ขนาด 0.4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 5 วัน และประเมินดูว่ามีอัตราการป่วยรุนแรง นอนไอซียู ใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต ณ 28 วัน แตกต่างกันหรือไม่

 

การศึกษานี้พบว่า Ivermectin ไม่ได้ช่วยในการลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง นอนไอซียู ใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต

 

สำหรับประเทศไทยขณะนี้ การระบาดรุนแรงต่อเนื่อง กระจายไปทั่ว มีการติดเชื้อแพร่เชื้อกันมากทั้งในบ้าน และที่ทำงาน รวมถึงระหว่างการดำรงชีวิตประจำวันที่มีการพบปะสังสรรค์กับคนอื่น 

 

การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด เป็นกิจวัตร ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

 

ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น

 

และหากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งให้คนใกล้ชิดทราบ ไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน ถือเป็นความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม