ยอดติดเชื้อโควิดวันนี้ไทยใกล้วิกฤติระบบสุขภาพรับผู้ป่วยได้อีก 1.2 แสนราย

18 ก.พ. 2565 | 19:11 น.

ยอดติดเชื้อโควิดวันนี้ไทยใกล้วิกฤติระบบสุขภาพรับผู้ป่วยได้อีก 1.2 แสนราย หมอเฉลิมชัยชี้สถานการณ์ระลอกที่สี่ขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ระบบสุขภาพไทยรับโควิด-19 (Covid-19) ได้อีก 1.2 แสนราย ถ้าติดเชื้อรวมวันละ 30,000 ราย แต่รักษาหายวันละ 15,000 ราย ระบบสุขภาพจะรับมือได้อีก 1-2 สัปดาห์

 

สถานการณ์โควิดระลอกที่สี่ของไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น โดยวันที่ 17ก.พ. 2565 มีผู้ติดเชื้อจากการตรวจ PCR 17,349 ราย ติดเชื้อเข้าข่ายจากการตรวจ ATK 11,969 ราย รวมเป็นผู้ติดเชื้อ 29,318 ราย โดยมีผู้ที่

 

รักษาหาย 11,561 ราย

 

รักษาตัวอยู่ในระบบ 144,061 ราย

 

โรงพยาบาลหลัก 64,919 ราย

 

โรงพยาบาลสนาม 48,985 ราย

 

รวม 113,904 ราย  
 

แยกกักตัวที่บ้าน 28,847 ราย

 

โดยมีผู้ป่วยปอดอักเสบ 728 ราย

 

ใช้เครื่องช่วยหายใจ 163 ราย

 

สถานการณ์โควิดขาขึ้นในลักษณะนี้ ไม่ได้แตกต่างจากประเทศตะวันตก อาจจะถือว่าขึ้นด้วยอัตราเร่งที่น้อยกว่าด้วยซ้ำไป

 

แต่ก็จะกระทบกับระบบสุขภาพได้ ถ้าวางแผนบริหารจัดการไม่ดี

 

จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ขอความร่วมมือ ให้ผู้ที่ติดเชื้อได้เข้ารับการดูแลรักษาให้เหมาะสมกับความรุนแรงของโรค

 

เพื่อจะได้มีเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการปานกลางและหนักในโรงพยาบาลหลักอย่างเพียงพอ

 

หลักการที่สำคัญ

 

  • อาการปานกลางถึงมาก ดูแลโดยโรงพยาบาลหลัก

 

  • อาการน้อย ดูแลโดยโรงพยาบาลสนาม

 

  • ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ควรแยกกักตัวที่บ้าน

โดยศักยภาพของระบบสุขภาพไทยนั้น (แบบไม่รบกวนการดูแลโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ)

 

1.โรงพยาบาลหลัก

 

  • รับได้ 60,000 เตียง

 

2.โรงพยาบาลสนาม 

 

  • รับได้ 100,000 เตียง

 

3.แยกกักตัวที่บ้าน

 

  • รับได้ 1-2 แสนราย

 

เมื่อดูสถานการณ์ในปัจจุบัน จะพบว่าโรงพยาบาลหลัก มีผู้ครองเตียงอยู่ 64,919 เตียง ถือว่าเต็มศักยภาพ

 

โรงพยาบาลสนามครองเตียงอยู่ 48,985 เตียง ยังสามารถรับได้อีกประมาณ 50,000 เตียง

 

แยกกักตัวที่บ้าน 28,847 ราย ยังสามารถรับได้อีกประมาณ 70,000 ราย
จึงต้องเร่งปรับ ให้จำนวนผู้ติดเชื้อได้อยู่ในโรงพยาบาล ตามความเหมาะสมดังกล่าวข้างต้นกล่าวคือ

 

ในโรงพยาบาลหลัก ผู้ที่จำเป็นจะต้องอยู่ดูแล น่าจะไม่เกิน 30,000 เตียงทำให้เกิดเตียงว่างที่จะรองรับได้อีก 30,000 เตียง

 

ส่วนโรงพยาบาลสนาม เมื่อรับผู้ป่วยที่ยัายมาจากโรงพยาบาลหลักอีก  30,000 ราย จะเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 เตียง เหลือที่จะรับเพิ่มได้ 20,000 เตียง
แยกกักที่บ้าน ยังสามารถรับเพิ่มได้อีกประมาณ 70,000 ราย

 

รวมเป็นศักยภาพของระบบสุขภาพสามารถจะรับเพิ่มได้อีก 120,000 ราย
ถ้าสถานการณ์ใน 7 วันข้างหน้า อยู่ในลักษณะทรงตัวต่อเนื่อง โดยมีผู้ติดเชื้อรวมไม่เกินวันละ 30,000 ราย และรักษาหายวันละ 15,000 ราย

 

จะทำให้มีผู้ติดเชื้อครองเตียงเพิ่มอีกวันละ 15,000 ราย รวม 7 วัน ก็ประมาณ 105,000 ราย ก็จะพอดีกับเตียงที่มี

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้นในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า จำนวนผู้รักษาหายก็จะเพิ่มมากกว่า 15,000 ราย ขึ้นไปอยู่ใกล้ 30,000 ราย จะทำให้ระบบสุขภาพสามารถรองรับได้ดังกล่าว

 

แต่ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน เพิ่มมากกว่าวันละ 30,000 ราย ก็จะทำให้ระบบสุขภาพ อยู่ในภาวะที่จะเต็ม และเริ่มจะหาเตียงยากขึ้นเป็นลำดับ จะส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องผู้ติดเชื้อที่มีอาการมากหาเตียงไม่ได้

 

ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ สื่อมวลชน และภาคประชาชนจึงควรร่วมกัน ทำให้เตียงในโรงพยาบาลหลักมีเพียงพอ

 

โดยการขยับผู้ป่วยอาการน้อย หรือไม่มีอาการ ไปอยู่โรงพยาบาลสนาม และแยกกักที่บ้านตามลำดับ