วัคซีนต้านโควิด19 แต่ละชนิดมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนกับโอมิครอน เช็คเลย

17 ก.พ. 2565 | 01:57 น.

วัคซีนต้านโควิด19 แต่ละชนิดมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนกับโอมิครอน เช็คเลย หมอธีระชี้แม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ ป่วยได้ และเสียชีวิตได้

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

17 กุมภาพันธ์ 2565 ทะลุ 417 ล้านแล้ว

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,020,469 คน ตายเพิ่ม 10,193 คน รวมแล้วติดไปรวม 417,859,246 คน เสียชีวิตรวม 5,866,725 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน รัสเซีย บราซิล ฝรั่งเศส และตุรกี
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 98.01% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 97.92%

 

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 53.44% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 38.34%

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

อัพเดตเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนในสหราชอาณาจักรต่อ Omicron (โอมิครอน)
UK HSA ได้เผยแพร่รายงาน COVID-19 Vaccine Surveillance Report วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา สรุปสาระสำคัญคือ

 

  • หนึ่ง หากดูประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในสหราชอาณาจักร (Astra 2 เข็มและกระตุ้นด้วย Pfizer หรือ Moderna, หรือ mRNA vaccines 3 เข็ม) จะพบว่ามีประสิทธิภาพในการลดโอกาสป่วยจนต้องนอนรพ.และลดโอกาสเสียชีวิตได้ดี แต่ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ(ป้องกันการป่วย)ได้ไม่มากนักคือราว 50-75% ในช่วงสามเดือนแรกหลังฉีดเข็มกระตุ้น และเหลือ 40-50% หลังจากฉีดไป 4-6 เดือน

 

  • สอง หากดูเปรียบเทียบผลระหว่าง Omicron สายพันธุ์ดั้งเดิมคือ BA.1 กับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดเพิ่มขึ้นคือ BA.2 จะพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนต่อทั้งสองสายพันธุ์นี้ดูจะไม่แตกต่างกัน 

 

 

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เราเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน แต่ที่สำคัญมากกว่าคือ การป้องกันตัวในระหว่างที่ดำเนินชีวิตประจำวัน 

 

แม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ ป่วยได้ และเสียชีวิตได้เช่นกัน

 

การติดเชื้อโรคโควิด-19 (Covid-19) นั้น มีข้อมูลวิชาการแพทย์มากขึ้นเรื่อยๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่ติดเชื้อ รักษา แล้วจะจบ แต่มีโอกาสที่จะเกิดภาวะอาการคงค้างระยะยาว หรือ Long COVID ได้ 

 

โดยมีถึง 20-40% ของผู้ที่ติดเชื้อทั้งหมดที่อาจเกิดภาวะนี้ 

 

ประสิทธิภาพของวัคซีนต่อโควิด-19

 

นอกจากนี้ยังเกิดได้กับทั้งคนที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย หรือมีอาการรุนแรง

 

ป่วยรุนแรงเสี่ยงกว่าป่วยไม่รุนแรง ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก ผู้หญิงเสี่ยงกว่าผู้ชาย แต่เน้นย้ำว่าทุกเพศ ทุกวัย ทุกความรุนแรงเกิดได้หมด

 

เชื่อกันว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เกิด Long COVID เพราะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบต่อเนื่องระยะยาวในระบบต่างๆ ของร่างกาย หรืออาจเกิดภาวะภูมิต้านทานตนเอง (autoantibody) 

 

Long COVID ในปัจจุบันมองว่าเป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ถึง 200 อาการ เกิดได้ทั้งในระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร ผิวหนัง ส่งผลทั้งต่อสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน สมรรถนะในการทำงานของผู้ป่วย และเป็นภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวทั้งต่อบุคคล ครอบครัว และสังคมได้
ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

 

สถานการณ์ไทยเรา การระบาดยังรุนแรง กระจายทั่ว และยังเป็นขาขึ้น

 

ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น

 

หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน ไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม