ข่าวดี!คนท้อง "บัตรทอง"ขยายสิทธิฝากครรภ์ เลิกจำกัดจำนวนครั้ง

13 ก.พ. 2565 | 07:16 น.

สปสช. เผย บัตรทอง ปี 2565 ขยายสิทธิหญิงไทย ฝากครรภ์ ได้ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จากเดิมกำหนดสิทธิแค่ 5 ครั้ง หนุนบริการเท่าเทียม

13 ก.พ.2565 - นับเป็นข่าวดีของหญิงไทย คนตั้งท้อง เมื่อ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทุน "บัตรทอง" ระบุ ปี 2565 บัตรทองขยายบริการฝากครรภ์จากเดิม 5 ครั้งเป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการฝากครรภ์ เน้น ‘คุณภาพ-เท่าเทียม’

ทั้งนี้ รายละเอียด การฝากท้อง หรือ ฝากครรภ์ กับบัตรทอง นั้น “หญิงไทยตั้งครรภ์ทุกสิทธิ” มีสิทธิรับบริการ “ฝากครรภ์คุณภาพ” กับกองทุนบัตรทอง สปสช.พัฒนาสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ดูแลสุขภาพแม่และทารกในครรภ์ ล่าสุดปี 2565 ขยายบริการฝากครรภ์จากเดิม 5 ครั้งเป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง และขยายการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสและโรคธาลัสซีเมียสำหรับสามีหรือคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกคน

ข่าวดี!คนท้อง "บัตรทอง"ขยายสิทธิฝากครรภ์ เลิกจำกัดจำนวนครั้ง
 

สปสช.เน้นให้ความสำคัญในเรื่องนี้จึงได้บรรจุสิทธิประโยชน์ฝากครรภ์คุณภาพตามแนวทางการดูแลการตั้งครรภ์ที่กรมอนามัย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และองค์การอนามัยโลกแนะนำ พร้อมพัฒนาสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลหญิงตั้งครรภ์ทุกสิทธิ และพร้อมอำนวยความสะดวกให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับบริการได้ทุกที่เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ทุกสิทธิ ได้รับบริการฝากครรภ์ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม

 

ขยายสิทธิฝากครรภ์ จาก 5 ครั้ง เป็นไม่จำกัดจำนวน 


ทั้งนี้ เมื่อปี 2559 สปสช.กำหนดให้หญิงตั้งครรภ์มีสิทธิได้รับบริการฝากครรภ์อย่างน้อย 5 ครั้ง และในปี 2562 ปรับการจ่ายสำหรับบริการฝากครรภ์จากเดิมที่จ่ายแบบเหมาจ่ายเป็นการจ่ายตามรายการบริการที่กำหนดราคา (fee schedule) พร้อมอำนวยความสะดวกให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับบริการได้ทุกที่
    

สำหรับ รายละเอียดฝากครรภ์กับบัตรทอง มีการบรรจุเพิ่มการเข้าถึงบริการฝากครรภ์คุณภาพตามแนวทางการบริการฝากครรภ์หญิงตั้งครรภ์ของกรมอนามัยจำนวน 8 ครั้ง ขณะ ในปีงบประมาณ 2565 บอร์ด สปสช.ได้ขยายสิทธิประโยชน์การฝากครรภ์คุณภาพจากเดิม 5 ครั้ง เป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ดูแลพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็น ก็สามารถนัดตรวจติดตามเพื่อดูแลเพิ่มเติมได้ โดยหญิงตั้งครรภ์ที่เข้าฝากครรภ์จะได้รับบริการ อาทิ การซักประวัติ วัดสัญญาณชีพ ตรวจร่างกาย ตรวจครรภ์ ประเมินความเสี่ยง ประเมินสุขภาพจิต วัคซีนป้องกันบาดทะยัก ยาเสริมธาตุเหล็ก ไอโอดีนและโฟลิก ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.nhso.go.th/news/3484