13 กุมภา วันรักนกเงือก สัญลักษณ์แห่ง "รักแท้" และความสมบูรณ์ของผืนป่า

12 ก.พ. 2565 | 22:06 น.

ประเทศไทยมีวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันรักนกเงือก" นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา นกชนิดนี้ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์แห่งการมีรักเดียวใจเดียว มีคู่แท้เพียงครั้งเดียวในชีวิต แต่ยังเป็น "นักปลูกต้นไม้" และเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอีกด้วย

กุมภาพันธ์ เป็นเดือนแห่งความรัก เพราะนอกจากจะมี "วันวาเลนไทน์" ที่เป็นวันแห่งความรักสากลในวันที่ 14 ก.พ.แล้ว ยังมี “วันมาฆบูชา” เป็นวันแห่งความรักที่พระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีแด่มนุษยชาติผู้มีดวงตาเห็นธรรม (ปีนี้ตรงกับวันที่ 16 ก.พ.) นอกจากนี้ ในประเทศไทยเรายังมี วันที่ 13 ก.พ. เป็น “วันรักนกเงือก” อีกด้วย

 

นกเงือก หรือ ฮอร์นบิลล์ (Hornbill) นั้น เป็นสัตว์ที่ทีพฤติกรรม “รักเดียวใจเดียว” เป็นสัตว์ที่จับคู่เพียงครั้งเดียวในชีวิต โดยมันจะอยู่กับคู่ของตัวเองจนกว่าจะตายจากกันไป ซึ่งการตายของนกเงือกตัวผู้ จะส่งผลกับนกเงือกตัวเมียและลูกของมันอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ตัวเมียกำลังฟักไข่และเลี้ยงดูลูกนกเงือกในรังซึ่งมักจะเป็นโพรงในยอดไม้สูง ถ้าหากนกเงือกตัวผู้ออกไปหาอาหารและมีเหตุใด ๆ ทำให้ต้องตายไประหว่างทาง ตัวเมียกับลูกก็จะเฝ้ารออยู่ในรังจนกระทั่งมันอดอาหารตายในที่สุด

13 กุมภา วันรักนกเงือก สัญลักษณ์แห่ง "รักแท้" และความสมบูรณ์ของผืนป่า

นอกจากนี้ เมื่อนกเงือกตัวผู้เกิดอาการสนใจนกเงือกตัวเมียตัวใดขึ้นมา มันก็จะเทียวนำอาหารไปให้เหมือนเป็นของฝาก-ของกำนัล ซึ่งหากเมื่อใดที่นกเงือกตัวเมียยอมรับอาหารจากนกเงือกตัวผู้ นั่นก็เป็นเหมือนการตกปากรับคำว่า จะอยู่เคียงคู่กันตลอดไปจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะตายจาก

อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ส่วนหนึ่ง ที่ทำให้นกเงือกเป็นสัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทางมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กำหนดให้วันที่ 13 ก.พ. ของทุกปีเป็น “วันรักนกเงือก” โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 และดำเนินกิจกรรมสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

 

นักวิจัยยกให้นกเงือกเป็นสัตว์ที่ความสำคัญต่อระบบนิเวศน์เป็นอย่างมาก การดำรงอยู่และจำนวนของนกเงือกนั้นสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบรูณ์ของผืนป่า การเพิ่มหรือลดจำนวนของนกเงือกจึงมีนัยยะสำคัญ ที่สะท้อนถึง “สภาพ” หรือ “ความอุดมสมบูรณ์” ของผืนป่านั้นๆ

 

ทั้งนี้ นกเงือก หรือ Hornbill เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ถือกำเนิดมานานประมาณ 50-60 ล้านปี เป็นนกขนาดใหญ่ จุดเด่นของนกเงือก คือ จงอยปากที่ใหญ่หนา รวมทั้งมีโหนกทางด้านบนเป็นโพรงซึ่งภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ ทั่วโลกมีนกเงือกอยู่มากกว่า 50 ชนิด มีการแพร่กระจายอยู่ในประเทศแถบเขตร้อน ของทวีปแอฟริกาและเอเชีย

13 กุมภา วันรักนกเงือก สัญลักษณ์แห่ง "รักแท้" และความสมบูรณ์ของผืนป่า

ปัจจุบัน นกเงือกในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ จากกว่า 50 ชนิดทั่วโลก ประกอบด้วย

  1. นกกก
  2. นกเงือกหัวแรด
  3. นกแก๊ก
  4. นกเงือกดำ
  5. นกเงือกคอแดง
  6. นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว
  7. นกชนหิน
  8. นกเงือกสีน้ำตาล
  9. นกเงือกปากดำ
  10. นกเงือกปากย่น
  11. นกเงือกกรามช้าง
  12. นกเงือกกรามช้างปากเรียบ
  13. นกเงือกหัวหงอก

 

เรามักจะพบเห็นนกเงือกได้ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีสถิติจำนวนนกเงือกในผืนป่าของไทยราว 3,000 ตัว

 

เหตุผลที่นกเงือกเป็นสัตว์สำคัญที่เป็นดัชนีชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่มันอาศัยอยู่ ก็เพราะมันเป็นนกที่จำเป็นจะต้องสร้างรังในโพรงต้นไม้สูง แข็งแรง ในป่าทึบ ซึ่งด้วยความสูงของยอดไม้ไม่ต่ำกว่า 30 เมตรนั้น หมายความว่า ต้นไม้ใหญ่ลักษณะนี้มักจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี ซึ่งปัจจุบันเหลือไม่มากแล้ว และด้วยความหลากหลายของการกินอาหาร นกเงือกจึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงดุลยภาพต่างๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง นกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์

 

หากไม้เหล่านี้สามารถเจริญเป็นไม้ใหญ่ได้เพียง 5% หนึ่งชีวิตของนกเงือกก็จะสามารถปลูกไม้สำคัญของป่าได้ถึง 500,000 ต้นเลยทีเดียว

 

นกเงือกได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ห้ามเลี้ยงดูหรือครอบครอง ซื้อขายฯลฯ หากฝ่าฝืนจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร