"ที่ปรึกษาศบค."ชี้รัฐเงินไม่พอ เหตุต้องเลิกบริการโรคโควิดแบบฉุกเฉิน UCEP

11 ก.พ. 2565 | 06:30 น.

“ที่ปรึกษาศบค.” ชี้รัฐบาลเงินไม่พอ เหตุยกเลิกรักษาโควิด-19 ออกจากบริการแบบฉุกเฉิน ( UCEP ) ย้ำไม่ออกจาก UCEP ทันที ให้ประชาชนมีเวลาเตรียมตัว 1-2 เดือน

นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 ในประเทศว่า ยังอยู่ในคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)โดยคาดว่าในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ จะมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มจากวันนี้ที่มี 15,000 ราย มากขึ้นไปถึงวันละ 17,000-18,000 ราย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกัน

 

"ไม่อยากให้ประชาชนตระหนกที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และต้องบอกว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอีก แต่ไม่อยากให้สูงถึง 20,000 ราย เพราะจะทำให้มีสัดส่วนผู้ป่วยหนักสูงขึ้น ถ้าไม่สูงเกิน 20,000 รายต่อวัน ก็สามารถสู้ไหว  กำลังด้านสาธารณสุขมีเพียงพอทุกอย่าง ระบบได้ทำไว้ดีหมดแล้ ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้ที่เจ็บป่วยรุนแรงน้อยลง ถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ป่วยหนักลดลงถึง 10 เท่า ถือเป็นข้อดี  แต่แม้จะไม่รุนแรงก็ขอให้ประชาชนเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ขณะนี้วัคซีนมีจำนวนมากแต่มีผู้ไปฉีดน้อย ซึ่งเข็ม 3 มีข้อมูลชัดเจนว่าช่วยป้องกันได้"นพ.อุดม กล่าว
 

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศไทยจะต้องยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากบริการยูเซ็ป ( UCEP) หรือการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ แล้วให้ไปใช้สิทธิ์ ตามหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคล ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ ที่จะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ว่า ขอให้ประชาชนเข้าใจว่าที่ผ่านมาว่าที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 ฟรี ที่ไม่มีประเทศใดดำเนินการเท่ากับประเทศไทย 

 

ต้องยอมรับว่ารัฐบาลรองรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว เพราะ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก  ยกตัวอย่างเช่นในประเทศสวีเดนรัฐบาลสวีเดนยกเลิกกฎควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกือบทั้งหมดเมื่อวันที่10 ก.พ.ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีงบประมาณเพียงพอในการดูแลผู้ป่วย โควิด-19 ทั้งที่เป็นประเทศที่ร่ำรวยกว่าไทย ส่วนตัวจึงเห็นว่า ควรช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ และตอนนี้ต้องทำใจเพื่อเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ โดยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ
         

"ผมคิดว่ารัฐบาลก็ไม่ไหว คือต้องยอมรับว่าเราใช้เงินเยอะมาก รัฐบาลทุ่มเงินให้ฟรีหมด ไม่มีประเทศไหนให้ฟรีได้มากเท่าประเทศเรา ถ้าพูดกันตรงๆ ผมคิดว่าตอนนี้เราต้องช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งตอนนี้ต้องทำใจ ผมคิดว่าเราต้องเตรียมใจในช่วงที่จะต้องเปลี่ยนผ่านกับโรคระบาดทั่วโลก อย่างไรก็ตามยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ได้มีการประกาศยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากบริการยูเซ็ป ในทันที แต่จะให้ประชาชนมีเวลาเตรียมตัว 1-2 เดือน ”
         
 

นพ.อุดม คชินทร กล่าวต่อถึง การฉึดวัคซีนในเด็กอายุตั้งแต่ 5-11 ปีว่า ยังมีการฉีดน้อยมาก เนื่องจากผู้ปกครองมีความกังวล ซึ่งหากไม่ต้องการฉีดไฟเซอร์ ก็มีซิโนแวคและชิโนฟาร์มเป็นอีกทางเลือก ขณะที่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป กระทรวงสาธารณสุขจะให้ใช้สูตรไขว้ได้ เพื่อให้ภูมิขึ้นเร็ว ซึ่งขอให้เด็กไปรับการฉีดวัคซีน เพราะการระบาดในเด็ก เมื่อเด็กป่วยแล้ว เชื้อจะกระจายไปทั่วร่างกาย ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าผู้ใหญ่ที่เชื้อลงปอดเท่านั้น