ปมร้าว 'สัมปทานรถไฟฟ้า BTS' เปิดช่อง สอบ. ขอคงค่ารถไฟฟ้า 44 บาทตลอดสาย

09 ก.พ. 2565 | 12:26 น.

ตามติดประเด็นร้อน ปมขัดแย้ง ระหว่างพรรคภูมิใจไทย กับ ครม. เหตุ 7 ส.ส. สังกัด 'อนุทิน' ค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้า (สายสีเขียว) 30 ปี ให้ BTS แลก กทม. ติดหนี้ ขณะ สภาองค์กรผู้บริโภค เปิดช่องค้านล่วงหน้า ขอยืนค่ารถไฟฟ้าตลอดสาย 44 บาท ไม่ใช่ 65 บาท

9 ก.พ.2565 - ยังคงเป็นประเด็นร้อนฉ่ายึดพื้นที่สื่อ หลังวานนี้ พรรคภูมิใจไทย ดัดหลังกระทรวงมหาดไทย  ซึ่งเสนอวาระขอพิจารณาการต่อ สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผ่านการที่ 7 ส.ส. ไม่เข้าร่วมประชุม ครม.

 

แสดงออกชัดเจน ว่าไม่เห็นด้วยกับความต้องการแปลงสัญญาสัมปทาน เป็นสัญญาร่วมลงทุน ลักษณะการโอนกรรมสิทธิ์ส่วนต่อขยายจาก รฟม.ไปเป็นของ กทม. ( คู่กรณี BTS ภาระหนี้3 หมื่นล้านบาท ) หวั่นอาจนำมาซึ่ง การเก็บอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 65 บาท ตามที่มีการประกาศก่อนหน้า ผลักภาระประชาชน

ประเด็นดังกล่าว ได้รับความสนใจจากประชาชน และกลุ่มผู้บริโภคอย่างมาก ขณะสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) มีความเห็นออกมาเช่นกัน โดยระบุ ได้รับข้อมูลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565 จะมีการเสนอ ครม. ครั้งที่ 9 พิจารณาให้ความเห็นชอบต่ออายุ สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี และยืนยันอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวที่ 65 บาทตลอดสายนั้น

ค้านค่ารถไฟฟ้า 65 บาทตลอดสาย 

สอบ. ย้ำความเห็นว่า ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่สูงเกินไป ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าสาธารณะในชีวิตประจำวันได้  โดยย้ำว่ารัฐบาลต้องคำนึงถึงภาระค่าครองชีพ และภาระหนี้สินของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นจากการแบกรับค่าโดยสารสูงสุดที่ 65 บาท

 

สอบ. ขอคัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้าดังกล่าว เพราะจะเป็นการสร้างวิกฤตใหม่ซ้ำเติมประชาชน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปอีกอย่างน้อย 30 ปี (ปี 2573 - 2602)  พร้อมทั้งเสนอให้ ครม. ลดปัญหาค่าครองชีพและลดค่าบริการขนส่งมวลชนของประชาชนในการใช้ชีวิตประจำวันที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาระบบรถไฟฟ้า คงอัตรา ค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว ไว้ที่ 44 บาทตลอดสายไปจนสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 โดยให้จัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท และหลังสิ้นสุดสัมปทานแล้วให้รัฐบาลเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 25 บาทตลอดสาย 

 

อีกทั้งระบุว่า ‘รถไฟฟ้าควรต้องถูกลง ทุกคนต้องขึ้นได้ทุกวัน’ โดยหยิบยกปัญหา ว่าแม้จะมีการให้บริการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเส้นทางบริการที่เพิ่มขึ้นแต่ประชาชนผู้ใช้บริการยังพบปัญหาอยู่หลายอย่าง เช่น รถไฟฟ้าแต่ละเส้นทางมีสัญญาสัมปทานกำกับอยู่และมีการเก็บค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อน ทำให้ผู้โดยสารต้องเสียค่าโดยสารมากขึ้นเมื่อต้องเปลี่ยนเส้นทาง รวมถึงปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายที่มีราคาแพง เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ขั้นต่ำต่อวันที่ได้รับ

 

จากปัญหาที่เกิดขึ้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจะร่วมผลักดันในให้ภาครัฐทบทวนการคิดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชนต่อไป

 

ที่มา : สภาองค์กรของผู้บริโภค