โควิดอาการ Long Covid เกิดจากระบบประสาทอักเสบ ผลที่ตามมาเป็นอย่างไร เช็คเลย

21 ม.ค. 2565 | 01:53 น.

โควิดอาการ Long Covid เกิดจากการอักเสบของระบบประสาท ผลที่ตามมาเป็นอย่างไร เช็คเลย หมอธีระเผยนำไปสู่อาการผิดปกติ โรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาด้านความคิดความจำ ปัญหาทางอารมณ์

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 
21 มกราคม 2565 ทะลุ 342 ล้านไปแล้ว

 

 


เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 3,204,984 คน ตายเพิ่ม 7,992 คน รวมแล้วติดไปรวม 342,530,372 คน เสียชีวิตรวม 5,591,612 คน

 

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี และบราซิล 
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 85.64% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 86.51%

 

 

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 46.15% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 37.24% 

 

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 11 ใน 20 อันดับแรกของโลก

Omicron (โอมิครอน) ถล่มเอเชียหนัก

 

 

อินเดียติดเพิ่มถึง 344,859 คน หากคุมไม่อยู่โดยเร็ว อาจแซงสถิติเดิมที่สูง 414,433 คน ณ 6 พ.ค. 2564

 

 

ในขณะที่ตอนนี้ญี่ปุ่นนั้น ระบาดระลอกที่ 6 ล่าสุดติดเพิ่ม 39,841 คน ถือว่าเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีการระบาดมา และสูงกว่าระลอกที่ 3 เมื่อต้นปีก่อนถึง 5 เท่า  

 

 

อัพเดตความรู้

 

 

Spudich S และ Nath A ตีพิมพ์บทความวิชาการในวารสาร Science เมื่อวานนี้ 20 มกราคม 2565

 

 

การติดเชื้อโรคโควิด-19 (Covid-19) นั้น นอกจากจะเกิดอาการป่วยต่างๆ ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วนั้น ยังทำให้เกิดปัญหาต่อระบบประสาท ทั้งในระยะเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และอาการในระยะยาว

 

 

กระบวนการเกิดปัญหาระยะยาวในผู้ป่วยที่เป็น Long COVID นั้น มาจากกระบวนการอักเสบของระบบประสาท (Neuroinflammation) 

 

 

รวมถึงการยังคงค้างของไวรัสหรือชิ้นส่วนของไวรัสในเซลล์สมอง เส้นเลือดฝอยถูกทำลายและรั่วจนนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง และ/หรือการทำลายเซลล์ประสาทโดยกระบวนการอื่นๆ ที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
 

พยาธิสภาพต่างๆ ข้างต้นนำไปสู่อาการผิดปกติ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาด้านความคิดความจำ ปัญหาทางอารมณ์ ฯลฯ 

 

 

ป้องกันตนเองและสมาชิกในครอบครัวอย่างเป็นกิจวัตร ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า รักษาระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร 

 

 

วางแผนงานและการใช้ชีวิต พบปะเจอหน้ากันเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ และเลี่ยงการกินดื่มร่วมกับคนอื่น