กทม.เตรียมพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ 41 แห่ง รองรับผู้ป่วยโควิด-19

14 ม.ค. 2565 | 04:30 น.

กทม.เตรียมพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ 41 แห่ง รวม 5,116 เตียง เปิดให้บริการ 25 แห่ง รวม 3,304 เตียง รองรับผู้ป่วยโควิด-19

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI ) ของกรุงเทพมหานครว่า สำหรับศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ CI จำนวน 41 แห่ง มีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 5,116 เตียง เปิดให้บริการ 25 แห่ง รวม 3,304 เตียง อยู่ระหว่างดำเนินการเปิดให้บริการ 16 แห่ง รวม 1,812 เตียง ปัจจุบัน(ข้อมูลวันที่ 12 ม.ค. 65) มีผู้ครองเตียง 239 ราย คงเหลือ 4,877 เตียง

 

กทม.เตรียมพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ 41 แห่ง รองรับผู้ป่วยโควิด-19

 

นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลสนามประจำกลุ่มเขต (District Field Hospital) จำนวน 8 แห่ง รวม 1,660 เตียง เปิดให้บริการ 3 แห่ง รวม 640 เตียง Standby mode พร้อมเปิดบริการ 5 แห่ง รวม 1,020 เตียง ครองเตียง 179 ราย คงเหลือ 1,481 เตียง

 

 

พร้อมกันนี้กรุงเทพมหานครได้มีการประสานความร่วมมือกับสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ในการเตรียมพร้อมเตียงสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 กรณีที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นเตียง ซึ่งคาดว่าในการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกนี้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนจะสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วขึ้น และมีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาตามอาการในสถานพยาบาลต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ

กทม.เตรียมพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ 41 แห่ง รองรับผู้ป่วยโควิด-19

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า หากประชาชนตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเองจากชุดตรวจ ATK แล้วพบว่าผลการตรวจออกมาเป็นบวกติดเชื้อให้ติดต่อสายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โทร. 1330 กด 14 หรือไลน์ @สปสช ตลอด 24 ชั่วโมง กรณีฉุกเฉินสามารถแจ้งได้สายด่วนศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร โทร. 1669 กด 2 ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจะทำการประเมินอาการหากไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยจะให้ผู้ติดเชื้อทำ Home Isolation (HI) แยกกักและพักรักษาตัวที่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่จะจัดส่งสิ่งของ อุปกรณ์จำเป็น และเวชภัณฑ์ ภายใน 24 ชั่วโมง

 

รวมถึงมีตรวจประเมินสุขภาพด้วย Telemonitor ทุกวัน อาทิ วัดอุณหภูมิร่างกาย (Thermometer) วัดความดัน (Blood Pressure) วัดระดับออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximeter) ซึ่งหากผู้ติดเชื้อไม่สามารถทำ HI ได้ เจ้าหน้าที่ก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาที่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) ที่ภาครัฐจัดไว้สำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยในชุมชน หากผู้ป่วยโควิด-19 อาการดีขึ้นก็กลับบ้านได้ แต่หากอาการรุนแรงหรือหนักขึ้นก็จะส่งต่อการรักษาไปยัง Hospital โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก ตามอาการต่อไป

 

ส่วนผู้ที่ได้รับการประเมินอาการแล้วมีอาการปานกลางหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีอาการหนักขึ้น ไม่สามารถทำ HI หรือ CI ได้ เจ้าหน้าที่ก็จะส่งเข้าระบบการรักษา Hospital โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก ตามอาการให้เร็วที่สุดเบื้องต้นกำหนดไว้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง