รับมือโอมิครอน กทม.ส่งตัวผู้ป่วยโควิดเข้าสู่ระบบการรักษาภายใน 12 ชม.

13 ม.ค. 2565 | 07:55 น.

รับมือโอมิครอน รองผู้ว่าฯ กทม. เผย พร้อมรับสถานการณ์ทำงานบูรณาทุกภาคส่วน ร่วมป้องกัน-ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ ยัน ดำเนินการส่งตัวผู้ป่วยโควิดเข้าสู่ระบบการรักษาเร็วสุดภายใน 12 ชั่วโมง

จากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (OMICRON) เป็นไปอย่างรวดเร็วและสามารถติดเชื้อได้ง่ายโดยเฉพาะในพื้นที่กทม. มีผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาจำนวนเพิ่มขึ้น ล่าสุด พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยแผนการรับมือและเตรียมความพร้อมของ กทม.ว่า

ในที่ประชุมได้พูดคุยถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการร่วมกันป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในด้านการเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงแนวทางการนำส่งตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรรักษาโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ หากประชาชนมีความเสี่ยงหรือสงสัยว่าตนเองจะติดเชื้อ เบื้องต้นสามารถตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากผลการตรวจออกมาเป็นบวกติดเชื้อให้ติดต่อสายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โทร. 1330 หรือไลน์ @สปสช

 

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการประเมินอาการหากไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยจะให้ผู้ติดเชื้อทำ Home Isolation (HI) แยกกักและพักรักษาตัวที่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่จะจัดส่งสิ่งของ อุปกรณ์จำเป็น และเวชภัณฑ์ ภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงมีตรวจประเมินสุขภาพด้วย Telemonitor ทุกวัน อาทิ วัดอุณหภูมิร่างกาย (Thermometer) วัดความดัน (Blood Pressure) วัดระดับออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximeter) 

อย่างไรก็ดี หากผู้ติดเชื้อไม่สามารถทำ HI ได้ เจ้าหน้าที่ก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาที่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) ที่ภาครัฐจัดไว้สำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยในชุมชน หากผู้ป่วยโควิด-19 อาการดีขึ้นก็กลับบ้านได้ แต่หากอาการรุนแรงหรือหนักขึ้นก็จะส่งต่อการรักษาไปยัง Hospital โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก ตามอาการต่อไป

ส่วนผู้ที่ได้รับการประเมินอาการแล้วมีอาการปานกลาง หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีอาการหนักขึ้น ไม่สามารถทำ HI หรือ CI ได้ เจ้าหน้าที่ก็จะส่งเข้าระบบการรักษา Hospital โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก ตามอาการให้เร็วที่สุดเบื้องต้นกำหนดไว้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง

สำหรับเกณฑ์การส่งต่อผู้ป่วยจาก HI หรือ CI เข้าโรงพยาบาล จะดูจากอาการข้อใดข้อหนึ่งดังนี้

1.มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง

2.ค่า Oxygen saturation ต่ำกว่า 94%

3.หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาที (ในผู้ใหญ่)

4.กลุ่ม 608 ที่มีความเสี่ยง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและมีอาการเปลี่ยนแปลง

5.สำหรับในเด็ก อาการข้อ 1-2 ร่วมกับอาการหายใจลำบาก หายใจเร็วเกินเกณฑ์อายุ ซึมลง ดื่มนม หรือทานอาหารน้อยลง