ศบค.แจงการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี

12 ม.ค. 2565 | 07:40 น.

ศบค.ชี้แจงการฉีดวัคซีนในเด็ก 5-11 ปี ไทยจะเริ่มนำเข้าภายในสิ้นเดือนนี้ และเริ่มฉีดในรูปแบบ School base จากอายุ 11 ปี ไล่ลงไปอายุน้อย

วันนี้ (12 ม.ค.65) เวลา 12.40 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนในการแถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต่อกรณีความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 5-11 ปีว่า

 

จากที่ก่อนหน้านี้ทางองค์การอาหารและยา ได้อนุญาตให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปีได้ ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์ดังกล่าวจะแตกต่างจากวัคซีนไฟเซอร์ที่ใช้ในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยบรรจุภัณฑ์ของวัคซีนจะเป็นฝาสีส้ม(Orange cap) ในปริมาณ 10 ไมโครกรัม/โดส แตกต่างจากวัคซีนไฟเซอร์ที่ใช้ในกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นฝาสีม่วง (Purple cap) ในปริมาณ 30 ไมโครกรัม/โดส  ซึ่งไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้(ไม่สามารถนำวัคซีนฝาสีม่วงมาแบ่งใช้ 3 คน) เนื่องจากต้องใช้ให้ตรงตามกลุ่มอายุเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย
 

ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ของเด็กอายุ 5-11 ปี (ฝาสีส้ม) จะเริ่มทยอยเข้ามาในช่วงปลายเดือนมกราคมหรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นี้ ซึ่งถือว่าเร็วมากเพราะวัคซีนโดสเด็กเป็นที่ต้องการ ไทยจะเป็นอันดับสองในทวีปเอเชีย โดยได้เตรียมแผนการฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปีแล้ว โดยจะมีการฉีดในรูปแบบ School base คือเริ่มการฉีดในกลุ่มเด็กอายุ 11 ปีและไล่ลงมาตามลำดับอายุ

 

ศบค.แจงการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี

สำหรับกรณีวัคซีนเชื้อตายที่ประชาชนสนใจฉีดเพิ่มเติม เนื่องจากกังวลต่อผลข้างเคียงของวัคซีน mRNA ในเด็ก ขณะนี้ทางคณะอนุกรรมการองค์การอาหารและยาอยู่ระหว่างการเร่งขึ้นทะเบียนวัคซีนเชื้อตายให้ใช้ในเด็ก ซึ่งต้องรอผ่านการอนุมัติจากมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วย โดยเป็นการทำคู่ขนานกันให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งเมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว ผู้ปกครองจะสามารถเลือกสูตรการฉีดวัคซีนให้กับบุตรหลานได้โดยความสมัครใจ

 

สำหรับนโยบายการบริหารจัดการวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข เดือน ม.ค. 65 ทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และเข็มกระตุ้น ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธ.ค. 64 มีดังนี้

 

ผู้ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน

 

1 กลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป

แอสตร้าเซนเนก้า – แอสตร้าเซนเนก้า
แอสตร้าเซนเนก้า – ไฟเซอร์
ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า
 

2. กลุ่มอายุ 12-17 ปี

ไฟเซอร์ – ไฟเซอร์
 

ผู้ที่ต้องได้รับเข็มกระตุ้น

 

ผู้ที่ได้รับ ซิโนแวค – แอสตร้าเซนเนก้า ส.ค. – ต.ค. 64

เข็มกระตุ้น แอสต้าเซนเนก้า เป็นหลัก
 

ผู้ที่ได้รับ แอสตร้าเซนเนก้า – แอสตร้าเซนเนก้า ส.ค. - ต.ค. 64

เข็มกระตุ้น ไฟเซอร์ เป็นหลัก
 

ผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป

เข็มกระตุ้น แอสตร้าเซเนก้า เป็นหลัก

 

ศบค.แจงการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี

 

 

ทำแผนเผชิญเหตุกรณีพบติดเชื้อในโรงเรียน

 

พญ.สุมนี  กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข(EOC) กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือถึงเรื่องการปิด-เปิดโรงเรียนและสถานศึกษา เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้ ทำให้มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งปรับการเรียนการสอนมาเป็นออนไลน์ส่วนใหญ่
 

โดยกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ประชุมร่วมกันและจัดทำมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ทำแผนเผชิญเหตุในกรณีพบการติดเชื้อของนักเรียนนักศึกษาหรือบุคลากรในโรงเรียน

 

หลักการในการจัดการป้องกันควบคุมโรคในโรงเรียนหรือสถานศึกษา มีการดำเนินการโดยใช้มาตรการที่เรียกว่า 6-6-7 คือ 6 มาตรการหลัก ได้แก่ เว้นระยะ สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือ วัดไข้ ไม่ทำกิจกรรมที่มีคนแออัดจำนวนมา

 

6 มาตรการเสริม คือ ให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ลงทะเบียนก่อนเข้าและออกโรงเรียน หรือสถานศึกษา และ 7 มาตรการเข้มงวด ซึ่งเป็นมาตรการที่ทุกสถานศึกษาต้องดำเนินการ ได้แก่ ประเมินด้วยแอพพลิเคชั่น “Thai Stop Covid Plus”

 

นอกจากมาตรการ 6-6-7 ดังกล่าวแล้ว ในการจะเปิดทำการเรียนการสอนในโรงเรียนได้นั้น จะต้องมีจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วเกิน 75% และเด็กนักเรียนได้รับการฉีดวัคซีน ช่วงอายุ 12 ปีขึ้นไป ตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ  ATK เป็นระยะๆ อีกทั้งได้มีการทำแผนเผชิญเหตุเพื่อใช้ในการป้องกันควบคุมโรคในโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งได้ส่งแผนนี้ไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว อาทิ หากพบนักเรียนหรือครูในโรงเรียนติดเชื้อหนึ่งคนเราจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เช่น ลงไปสอบสวนโรคและให้ปิดเฉพาะห้องเรียนนั้น 3 วัน

 

ดังนั้น เมื่อพบผู้ติดเชื้อจึงไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน ขณะเดียวกัน ต้องขอความร่วมมือให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ช่วยประชาสัมพันธ์ถึงระเบียบและแผนเผชิญเหตุให้โรงเรียนภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานศึกษารูปแบบหรือประเภทต่างๆ ในทุกพื้นที่ ให้มีความเข้าใจตรงกันแล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์