เปิดรายละเอียดการลงทะเบียนยื่นขอรับเงินอุดหนุนบุตร 600 บาท และ เงินสงเคราะห์บุตร 800 บาท เช็คเลยมีเงื่อนไข คุณสมบัติ อะไรบ้าง
วันที่ 10 มกราคม 2565 สำหรับผู้ปกครองที่ยื่นขอรับเงินในโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด หรือ เงินอุดหนุนบุตร จำนวน 600 บาทต่อเดือนได้โอนเข้าบัญชีเป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ตามสิทธิของผู้ปกครองเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือเด็กเล็ก ยังมีอีกหนึ่งโครงการนั่นก็คือ เงินสงเคราะห์บุตร ที่จะได้จำนวน 800 บาทต่อเดือน
สำหรับทั้ง 2 โครงการนี้มีความแตกต่างกัน โดยเงินอุดหนุนบุตร มีเจ้าภาพคือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนเงินสงเคราะห์บุตรนั้นมีเจ้าภาพคือสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ทั้งนี้หากผู้ปกครองต้องการลงทะเบียนเพื่อยื่นขอรับเงินช่วยเหลือจากทั้ง 2 โครงการ สามารถตรวจสอบรายละเอียดที่"ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดมานำเสนอดังต่อไปนี้
โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด หรือ เงินอุดหนุนบุตร
คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน
- ผู้ปกครอง : มีสัญชาติไทย เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในความอุปการะ เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
- เด็กแรกเกิด : มีสัญชาติไทย เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย สมาชิกในครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ต่อปี ไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานรัฐและเอกชน
เอกสารประกอบการลงทะเบียน
1.แบบคำร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)
2.แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
3.บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครอง
4.สูติบัตรเด็กแรกเกิด
5.สมุดบัญชีเงินฝากของผู้ปกครอง (กรุงไทย ออมสิน หรือ ธกส.) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
6.สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (เฉพาะหน้าที่ 1 ที่มีชื่อของหญิงตั้งครรภ์)
7.ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ของทุกคนในครัวเรือนที่มีรายได้ประจำ
8.สำเนาเอกสาร หรือบัตรข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรแสดงสถานะหรือตำแหน่ง หรือเอกสารอื่นใด ที่แสดงตนของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2
สถานที่ลงทะเบียน
- กรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สํานักงานเขต
- เมืองพัทยา สามารถลงทะเบียนได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
- ส่วนภูมิภาคจังหวัดต่างๆสามารถลงทะเบียนได้ที่ องค์การบริหารส่วนตําบล หรือเทศบาล
ช่องทางตรวจสอบสิทธิการลงทะเบียน
- สแกน QR CODE
- คลิกเข้าเว็บไซต์ตรวจสอบสิทธิ์ (คลิกที่นี่)
- แอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" (คลิกที่นี่)
เงินสงเคราะห์บุตร 800 บาทต่อเดือน
ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สามารถยื่นขอรับเงินสงเคราะห์บุตรจากประกันสังคมได้ 800 บาทต่อเดือนต่อคน คราวละไม่เกิน 3 คน ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดในการยื่นได้ที่นี่
เงื่อนไขการยื่นขอรับเงินสงเคราะห์บุตร
- เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39
- จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
- เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (ยกเว้นบุตรบุญธรรม)
- อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน
- ผู้ประกันตนพ่อหรือแม่ สามารถเลือกใช้สิทธิได้ 1 สิทธิ
เอกสารที่ต้องใช้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01)
- กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ : สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
- กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ : สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่า พร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตน หรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
- กรณีเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล ให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลด้วย
- กรณีผู้ประกันตนต่างชาติ ใช้สำเนาบัตรประกันสังคม และสำเนาหนังสือเดือนทาง (passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราว หรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน ดังนี้
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
หรือสามารถลงทะเบียนรับเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ได้
- เอกสารประกอบการยื่นคำขอฯ ให้รับรองความถูกต้องของสำเนาทุกฉบับ และแสดงเอกสารที่เป็นต้นฉบับ เมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ
- กรณีเอกสารหลักฐานสำคัญต่อการพิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศ ให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยและรับรองความถูกต้องให้ครบถ้วน
สถานที่ยื่นเรื่องลงทะเบียน
- สามารถยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคมสาขาใกล้บ้าน ในวันและเวลาราชการ (08.30-16.30 น.)
อนึ่งการหมดสิทธิรับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร มีดังนี้
- เมื่อบุตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
- บุตรเสียชีวิต
- ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง