เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับโควิดเดลตาครอน ล่าสุด

10 ม.ค. 2565 | 04:24 น.

จับตา เดลตาครอน สายพันธุ์ที่มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกับเชื้อโอมิครอนแต่มีจีโนมของเชื้อเดลต้า หลังไซปรัสพบผู้ติดเชื้อ อย่างน้อย 25 ราย

โควิดโอมิครอน เพิ่งจะเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาอย่างเป็นทางการ และกำลังสร้างความกังวลให้นานาประเทศ แถมกำลังระบาดอย่างหนักในจังหวัดชลบุรี

โควิดโอมิครอน ยังไม่หายไปไหน เเต่กลับมีชื่อ "เดลตาครอน” เกิดขึ้น สร้างความวิตกกังวลให้ใครหลายคนเช่นกัน 

ทีมวิจัยของ ศาสตราจารย์ลีออนดิโอส คอสทริคิส หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและไวรัสวิทยาระดับโมเลกุลมหาวิทยาลัยไซปรัส เป็นผู้ค้นพบไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าว โดยศาสตราจารย์คอสทริคิสให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า

ไวรัสกลายพันธุ์มีลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์เดลตาและไวรัสโอมิครอนอีกบางส่วน จึงได้ชื่อว่า "เดลตาครอน” เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกับเชื้อโอมิครอนแต่มีจีโนมของเชื้อเดลต้า

ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ จำนวน 25 รายการในไซปรัส หลังจัดลำดับพันธุกรรม 1,377 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการติดตามการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ในไซปรัส ขณะที่ความถี่ของการกลายพันธุ์มีแนวโน้มสูงในหมู่ผู้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งอาจแปรความได้ว่า เดลตาครอนมีความเชื่อมโยงกับการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ขณะนี้เดลตาครอนยังไม่น่ากังวล

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังไม่มีข้อมูล โดยต้องตรวจสอบก่อนว่าเป็นข่าวจริง หรือรายงานอย่างเป็นทางการหรือไม่ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์ฯ มีการติดตามข้อมูลจากทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า เร็วๆ นี้ คงจะทราบแน่ชัดว่ามีการเกิดขึ้นของลูกผสม หรือไฮบริดระหว่างเดลตากับโอมิครอน หรือที่ระบุชื่อกันว่า เดลตาครอน หรือไม่ หากมีจริง จะถือเป็นตัวแรกของโลกที่เป็นลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน โดยที่ผ่านมา มีข้อมูลส่งเข้าจีเสส กว่า 6 ล้านตัวอย่าง ก็ยังไม่เคยระบุว่ามีลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน

ขณะนี้มีทั้งระบุว่าเป็นลูกผสมหรือบางส่วนระบุว่าเป็นเพียงการมี 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกัน แต่ไม่ใช่ลูกผสม ประเทศไทยก็เคยเกิดกรณีแคมป์คนงานที่พบคนเดียวติดเชื้อทั้งสายพันธุ์อัลฟาและเดลตาในเวลาเดียวกัน เป็นไปได้แต่มีไม่มาก ส่วนที่ระบุพบเดลตาครอนถึง 25 ตัวอย่างยังน่าสงสัย เพราะการเกิดลูกผสมหากเกิดขึ้นคงเกิดได้ไม่มาก

 

อย่างไรก็ตาม ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้เทคนิคการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสมีการถอดทั้งแบบสายสั้น สามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ประมาณ 300 ตำแหน่ง และแบบสายยาวสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ถึง 2,000-3,000 ตำแหน่ง การถอดแบบสายสั้นอาจจะได้ข้อมูลไม่จำเพาะ ซึ่งบางครั้งตัวอย่างที่ส่งตรวจอาจจะมีการปนเปื้อนของเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ ทำให้การวิเคราะห์ผิดพลาดได้ แต่หากเป็นการถอดสายยาวเช่นที่ศูนย์จีโนมฯใช้วิธีนี้ จะสามารถแยกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใดที่ชัดเจน รวมถึงเป็นลูกผสมหรือไม่ หรือเกิดจากการปนเปื้อนในแล็บวิจัย

เเต่ที่แน่ ๆ สิ่งที่เราต้องทำทันทีคือ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง  และเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด เข็ม 1 เข็ม 2 และเข็ม 3 เพื่อความปลอดภัย

 

โควิดโอมิครอนต่างจากเดลตาอย่างไร

ความรุนแรง – สายพันธุ์เดลตาและเดลตาพลัสรุนแรงกว่าสายพันธุ์โอมิครอน

การแพร่กระจาย –โอมิครอนสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าเดลตา แต่มีสิ่งที่คล้ายเดลตาคือความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันได้

การต้านวัคซีน –โอมิคอรนสามารถต้านประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ดีกว่าเดลตา ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่า คนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว สามารถกลับมาเป็นโควิดได้อีก