ห่วงร้านอาหารกึ่งผับ แออัด-ระบายอากาศแย่ เสี่ยงแพร่โอมิครอน

04 ม.ค. 2565 | 09:11 น.

สธ.ลงพื้นที่ตรวจสภาพสถานที่เสี่ยง พบ"ร้านอาหารกึ่งผับ"เป็นจุดแพร่โควิด-19 รอบใหม่ หลายแห่งฝ่าฝืนมาตรการ Covid-Free Setting อากาศไม่ถ่ายเท-แออัด "อนุทิน" กำชับหากพบการละเมิด ต้องจัดการเด็ดขาด

4 ม.ค.65 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ประเด็น สถานการณ์โควิด-19 หลังปีใหม่ ที่พบการติดเชื้อในหลายคลัสเตอร์ ว่า คลัสเตอร์ต่างๆ เกิดจากการที่ผู้ประกอบการ และผู้เข้ารับบริการ ละเมิดมาตรการที่รัฐบาลและกระทรวงฯ ย้ำเตือนตลอดเวลา หากไม่มีจิตสำนึก มีโรคระบาดมาก แต่ยังไม่ระวัง ยังรักความสนุกก็ทำความเดือดร้อนให้กับคนอื่น ซึ่งคนที่ปฏิบัติตามมาตรการ มีสำนึกต่อสังคมตลอดเวลาไม่เคยก่อปัญหา ดังนั้น เป็นสิ่งที่น่าเสียดายเพราะเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ เป็นเรื่องของจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม

 

“สถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ ที่ยังเปิดบริการไม่ได้ ก็อนุญาตให้ปรับเป็นร้านอาหารได้ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็ไม่ทำ ดังนั้น ผู้ที่อนุญาตในส่วนนี้ก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งทางตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องไปตรวจสอบ หากพบว่าไม่ทำตามที่ขอก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล

"เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แน่นอนว่า ทางกรมควบคุมโรคก็ต้องคิดว่า ที่จะเปิดวันที่ 15 ม.ค. ยังจะเปิดได้อยู่หรือไม่ เพราะไม่มีการทำ Covid-19 free settings เลย และไม่ใช่จะบอกว่าจะมาตัดสินใจจากเพียงราย สองราย มันไม่ใช่ เพราะมันทั้งหมดเลย" นายอนุทิน กล่าว

กรณีการพิจารณาเปิดสถานบริการในวันที่ 16 ม.ค.จะมีแนวโน้มอย่างไรนั้น นายอนุทินกล่าวเพียงว่า คงจะต้องพิจารณาให้หนักกว่านี้ ถ้าเป็นตนก็คงไม่ให้เปิด ซึ่งได้แต่เสนอความเห็น เนื่องจากอำนาจสุดท้ายไม่ได้อยู่ที่ตนเอง

 

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าวว่า ได้มีการลงพื้นที่สำรวจคลัสเตอร์ พบสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก คือ คลัสเตอร์ร้านอาหาร โดยเฉพาะ “ร้านอาหารกึ่งผับ” ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งพบผู้ติดเชื้อถึง 535 คน และเมื่อสุ่มตรวจ 12 คน พบว่าติดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ทั้ง 12 คน ส่วนร้านอาหารจังหวัดชลบุรี พบผู้ติดเชื้อสะสม 163 ราย ขณะที่คลัสเตอร์จังหวัดขอนแก่น พบผู้ติดเชื้อวันปีใหม่ 232 ราย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

ทั้งนี้ นพ.โอภาสระบุได้ลงพื้นที่ไป จ.อุบลราชธานี ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นจุดที่มีการระบาดหนัก พบว่า ร้านอาหารกึ่งผับที่ขออนุญาตเปิดเป็นร้านอาหาร ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการ Covid-Free Setting เช่น อากาศไม่ถ่ายเท จัดโต๊ะเก้าอี้หนาแน่น แม้มีการจัดโต๊ะอาหารไว้ข้างนอก แต่เวลาดึกๆ กลับปิดม่าน จัดโต๊ะอยู่ด้านในแน่น ไม่เว้นระยะห่าง มีเวที เปิดเครื่องเสียง แออัด มีการส่งเสริมการขาย มีร้องเพลง เต้นรำ เหมือนผับบาร์ ซึ่งอันนี้ผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้แจ้งความดำเนินมาตรการทางกฎหมายแล้ว

นพ.โอภาส ยังกล่าวด้วยว่า รมว.สาธารณสุข ได้เน้นย้ำคณะกรรมการโรคติดต่อทุกจังหวัดให้เข้มงวดสถานที่มีความเสี่ยง หากที่ใดไม่ปฏิบัติตามให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง และขอย้ำประชาชนว่า ร้านเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง “หากท่านติดแล้วไม่มีอาการ แต่เอาเชื้อไปติดผู้ใหญ่ พ่อแม่ ปู่ย่าตายายที่บ้านก็จะทำให้อาการหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น ตรงไหนมีความเสี่ยงอย่าไป อย่าเห็นแก่ความสนุก แต่จะทำให้โรคระบาดไปทั่วได้”

ห่วงร้านอาหารกึ่งผับ แออัด-ระบายอากาศแย่ เสี่ยงแพร่โอมิครอน

" ผับ บาร์ คาราโอเกะ ศบค.ไม่มีนโยบายให้เปิด แต่มีหลายร้านมาขอเปิดเป็นร้านอาหาร พออนุญาตแล้วแทนที่จะเปิดร้านอาหารจริงๆ กลับเปิดเป็นผับบาร์ พฤติกรรมหลายแห่งเหมือนผับ บาร์ คาราโอเกะ ขอย้ำประชาชน ท่านลือกได้ ร้านเหล่านี้เป็นร้านที่มีความเสี่ยงสูง ลำพังตัวท่านแข็งแรง ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อคงไม่เป็นอะไร แต่หากเอาไปติดคนที่บ้าน พ่อ แม่ คนสูงอายุที่บ้านก็อาจจะทำให้ท่านอาการหนักและเสียชีวิต ดังนั้น อย่าเห็นแก่ความสนุกไม่เท่าไหร่ แล้วพาโรคระบาดไปทั่ว ดังนั้น ในสภาวะที่ยังมีการระบาดของโรคโควิด -19 โดยเฉพาะโอมิครอนที่ระบาดเร็วขึ้น เราพยายามชะลอการระบาด ตรงไหนเป็นจุดเสี่ยงต้องขอความร่วมมือประชาชนงด-เลี่ยงการไปสถานที่เสี่ยง ทั้งนี้ จากการทำนายหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในเดือนม.ค.จะเพิ่มขึ้น เราต้องชะลอการติดเชื้อให้มากที่สุด และแม้โอมิครอนจะอาการไม่รุนแรงเหมือนเดลต้า แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมยารักษาไม่ให้ติดขัดและเน้นการดูแล HI/CI "นพ.โอภาสกล่าว

 

เมื่อถามว่าขณะนี้มีรายงานร้านอาหารกึ่งผับบาร์ทำผิดแล้วกี่แห่ง และมีการลงโทษไปแล้วกี่แห่ง นพ.โอภาส กล่าวว่า พบลักษณะดังกล่าวหลายๆ จังหวัด ตอนนี้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รวบรวมข้อมูล โดยผู้ว่าฯ ดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเข้มงวด ตามนโยบายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข โดยกฎหมายตอนนี้มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้องพ.ร.บ.โรคติดต่อ และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีโทษค่อนข้างหนัก ขอให้ช่วยกันเข้มงวดกวดขัน สิ่งสำคัญคือประชาชนหากไม่ไป ก็เปิดไม่ได้