หรือเพราะ" ยีนมรณะ" ? เมื่อโควิดระบาดในยุโรป - เอเชียใต้ หนักกว่าชาติ 2 เท่า

27 ธ.ค. 2564 | 13:26 น.

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดข้อมูล "ยีนมรณะ" หรือ ความผิดปกติของยีน สาเหตุสำคัญ อังกฤษ ยุโรป และประเทศแถบเอเชียใต้ โควิดระบาดรุนแรงกว่าชาติอื่นๆถึง 2 เท่า

27 ธ.ค.2564 - ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไขข้อข้องใจ ทำไมประชาชนในสหราชอาณาจักรและประเทศแถบเอเชียใต้ จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจาก การระบาดของโควิด-19 กว่าชาติอื่นๆ   เปิดข้อมูล 'ยีนมรณะ'  หรือ LZTFL1: Covid Susceptible Gene

 

โดยระบุว่า คนเชื้อสายเอเชียใต้และผู้ที่มีบรรพบุรุษชาวยุโรปเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงสุด คือประมาณร้อยละ 60 และร้อยละ 15 ตามลำดับ รองลงมาได้แก่ คนเชื้อสายแอฟริกัน-แคริบเบียนและเชื้อสายเอเชียตะวันออกที่มีความเสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 2 และ 1.8 คำตอบก็คือ ความผิดปกติของยีน LZTFL1 ในตัวผู้ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2
 

อ้างอิงข้อมูลจาก เว็บไซต์ Nature Genetics เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับยีน LZTFL1 ที่เซลล์บุผนังปอดและทางเดินหายใจ ซึ่งตามปกติจะมีหน้าที่สร้างเซลล์ปอดใหม่เพื่อรับมือกับการติดเชื้อต่าง ๆ เมื่อเจอเชื้อไวรัสโคโรนา

 

ยีนตัวนี้จะเปลี่ยนเป็นเซลล์บุผนังปอดและทำให้เชื้อเข้าสู่เซลล์ปอดได้น้อยลง เพราะตัวรับโปรตีน ACE2 ลดลง โปรตีนส่วนหนามของเชื้อไวรัสจึงไม่สามารถเกาะติดเซลล์ปอดได้ แต่ในบางคน ยีนตัวเดียวกันนี้กลับทำหน้าที่ผิดปกติจนทำให้เซลล์บุผนังปอดไม่อาจป้องกันตนเองจากเชื้อโควิดได้

งานวิจัยดังกล่าวยังศึกษาข้อมูลพันธุกรรมและความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องของหน่วยพันธุกรรมของผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนักถึงขั้นระบบทางเดินหายใจล้มเหลว กับผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอในการเปรียบเทียบหาความแตกต่างและพบว่าผู้ป่วยที่ยีน LZTFL1 มีการแสดงออกในระดับต่ำ ไวรัสโคโรนาเข้าสู่เซลล์ได้น้อยลง ส่วนในผู้ป่วยที่ยีน LZTFL1 มีการแสดงออกในระดับสูง กระบวนการเปลี่ยนแปลงของเซลล์จะช้าลง ทำให้ปอดไม่สามารถปรับตัวปกป้องตนเองจากเชื้อโควิด-19ได้ 

หรือเพราะ" ยีนมรณะ" ? เมื่อโควิดระบาดในยุโรป - เอเชียใต้ หนักกว่าชาติ 2 เท่า

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ยีนตัวนี้ส่งผลให้อาการของ โรคโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นถึง 2 เท่า ซึ่งมีอันตรายกว่าโรคหลอดเลือดหัวใจหรือเบาหวานเสียอีก นอกจากนั้น ยังพบว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อที่อายุต่ำกว่า60 ปีและมีความผิดปกติของยีน LZTFL1 มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตถึง 2 เท่าด้วยเช่นกัน

 

ศ.เจมส์ เดวีส์ ผู้นำทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดยังระบุว่ากลุ่มผู้ติดเชื้ออายุ 20-60 ปี ที่มีความผิดปกติในยีนดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุกช่วงอายุ 10 ปี กล่าวคือ ผู้ติดเชื้อวัย 40 ปี จะมีความเสี่ยงจะป่วยหนักและเสียชีวิตสูงกว่าผู้ติดเชื้อวัย 30  ปีเป็นสองเท่า


ในขณะที่เราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มียีนที่มีความเสี่ยงสูงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อช่วยป้องกันอาการรุนแรงของโรค ศาสตราจารย์กิตติคุณ ฟรานเซส ฟลินเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์คลินิก สนับสนุนว่าผลการวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการระบุเป้าหมายในการกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การฉีดวัคซีนแก่กลุ่มที่มีความบกพร่องทางพันธุกรรมจะช่วยลดทอนความเสี่ยงที่มีมากกว่ากลุ่มคนทั่วไปและช่วยป้องกันการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้

 

ปัจจุบัน การวิจัยคิดค้นยาและวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะมุ่งเน้นที่ระบบภูมิคุ้มกันเป็นส่วนใหญ่นักวิทยาศาสตร์จึงหวังว่าการค้นพบนี้จะช่วยนำไปสู่การคิดค้นยาที่มุ่งเน้นป้องกันปอด และย้ำว่าการฉีดวัคซีนสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความผิดปกติยีนดังกล่าวได้

 

ที่มา : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

https://www.nature.com/articles/s41588-021-00955-3

https://www.bbc.com/news/health-59165157

https://www.bionews.org.uk/page_160231

https://www.livescience.com/covid-gene-death-risk