ผู้ติดเชื้อแบบซ่อนเร้นปัจจัยแพร่กระจายโควิดอย่างรวดเร็ว

23 ธ.ค. 2564 | 00:59 น.

ผู้ติดเชื้อแบบซ่อนเร้นปัจจัยแพร่กระจายโควิดอย่างรวดเร็ว หมอยงแนะให้คิดไว้ก่อนว่าบุคคลที่จะใกล้ชิด อาจจะเป็นผู้ติดเชื้อ

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า 
โควิด-19  โอมิครอน (Omicron) การติดต่อและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
หมอยงระบุว่า ในระยะหลัง ไวรัสโควิด-19  มีแนวโน้มแพร่กระจายได้เร็วขึ้นมาโดยตลอด ตามสายพันธุ์ที่วิวัฒนาการขึ้นมา
ปัจจัยหนึ่งที่แสดงให้เห็นได้ชัด มีการติดเชื้อ แล้วผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่กระจายได้ 
อัตราการเสียชีวิตของทั่วโลก ก็เริ่มลดลงมาโดยตลอด จะเห็นได้จากตั้งแต่สายพันธุ์อู่ฮั่น ในระยะแรกอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 3 ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ 
 

และต่อมา มีการระบาดที่ยุโรปโดยเฉพาะอิตาลี อัตราการเสียชีวิตในระยะแรกค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มที่จะลดลงมาเรื่อยๆ การเสียชีวิตทั่วโลก ขณะนี้น้อยกว่า 2% 
ประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 0.9 เปอร์เซ็นต์ และแนวโน้มการติดเชื้อจะอยู่ในกลุ่มที่มีอายุน้อยลง อัตราการเสียชีวิตก็จะน้อยลงเรื่อยๆ  
เมื่อมีผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ประชากรกลุ่มดังกล่าวจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เป็นอย่างดี เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การแพร่กระจายเชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าประเทศ เกือบทั้งหมดแทบจะไม่มีอาการ สามารถเดินทางได้ การวัดไข้ก็จะจับไม่ได้ และก็สามารถพร้อมที่จะแพร่เชื้อได้ 
ในระยะหลัง การติดตามผู้สัมผัสโรค หรือการบอก Time line เมื่อมีผู้ป่วยมากขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ จึงทำให้มีผู้ติดเชื้อแบบซ่อนเร้น เป็นผู้แพร่กระจายเชื้อได้เป็นอย่างดี
 

การป้องกันตนเองในขณะนี้ ขอให้คิดไว้ก่อน ว่าบุคคลที่เราจะใกล้ชิด อาจจะเป็นผู้ติดเชื้อ จึงต้องมีการปฏิบัติที่เข้มงวดโดยตลอด
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) วันที่ 23 ธันวาคม 2564 ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น  2,940 ราย  
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,173,138 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 30 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,798 ราย กำลังรักษา 38,314 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,114,760 ราย