ห่วงเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี เสี่ยงไข้หวัดใหญ่ พบ อุบลฯ ป่วยมากสุด

12 ธ.ค. 2564 | 02:21 น.

กรมควบคุมโรค ห่วงหลังหลายพื้นที่อุณหภูมิลดลงต่อเนื่อง ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ชี้อุบลราชธานี มีอัตราการป่วยสูงสุด ย้ำยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด”

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงเช้าและตอนกลางคืนมีอากาศหนาวเย็น ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ จากข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคติดต่อของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 6 ธันวาคม 2564 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 10,020 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ เด็กแรกเกิด ถึง 4 ปี รองลงมาคือ อายุ 25-34 ปี และ อายุ 15-24 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ อุบลราชธานี พิษณุโลก เชียงราย น่าน และตาก ตามลำดับ

โรคไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย แพร่เชื้อผ่านการไอ จาม รดกัน หรือได้รับเชื้อจากการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก โดยหลังจากได้รับเชื้อจะมีไข้สูง ไอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีแรง เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบและเจ็บคอ บางรายสามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน

 

ในกลุ่มเด็กอาจพบอาการระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้มีโรคเรื้อรัง บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้  โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และโรคอ้วน หากป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดบวม หายใจลำบาก และอาจทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์ทันที

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น ขอให้ดูแลสุขภาพ  รักษาร่างกายให้อบอุ่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอให้ร่างกายแข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่ 

 

ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม โดยใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูทุกครั้ง ควรใส่หน้ากากอนามัย  ล้าง คือ ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ 70% ถูมือให้ทั่วก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังเข้าห้องน้ำ ห้องส้วม หรือหยิบจับสิ่งของต่างๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น ลูกบิด ราวบนรถโดยสาร  

 

เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือในสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น เว้นระยะห่างระหว่างจากผู้อื่น  และ หยุด คือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม แม้ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ โดยการปฏิบัติดังกล่าวจะทำให้ลดความเสี่ยงจากโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ โรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆ และโรคโควิด 19 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

ห่วงเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี เสี่ยงไข้หวัดใหญ่ พบ อุบลฯ ป่วยมากสุด