แนะชะลอนโยบายเปิดประเทศ-จำกัดโควต้าสกัดโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน

04 ธ.ค. 2564 | 00:20 น.

แนะชะลอนโยบายเปิดประเทศ จำกัดโควต้าสกัดโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน หมอธีระชี้ไม่อย่างนั้นคงรับมือลำบาก ระบุระบบบริการตรวจคัดกรองโรควิธีมาตรฐาน RT-PCR ต้องมีศักยภาพ

รายงานข่าวระบุว่า  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 
ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก องค์การอนามัยโลก ส่งสัญญาณเตือนแล้วให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียเตรียมรับมือกับการระบาดของ Omicron (โอไมครอน)
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเจนว่าการแพร่ระบาดกระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จากแอฟริกาไปยุโรป อเมริกาเหนือ โอเชียเนีย อเมริกาใต้ และเอเชีย
ใกล้ไทยเรา หลายต่อหลายประเทศก็มีรายงานกันต่อเป็นโดมิโน่ ทั้งฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย

การเรียน การทำงานทำมาหากิน ค้าขาย บริการ จำเป็นต้องหาทางทำความคุ้นเคยกับรูปแบบที่ต่างจากเดิมครับ 
ยืนยันว่ายังไม่มีทางที่จะกลับไปเป็นแบบในอดีต อย่างที่หลายฝ่ายพยายามตะล่อมและผลักดันอยู่
นโยบายวัคซีนจำเป็นต้องเน้นวัคซีนประสิทธิภาพสูงตามมาตรฐานสากล
ระบบบริการตรวจคัดกรองโรควิธีมาตรฐาน RT-PCR ต้องมีศักยภาพที่จะตรวจได้มาก ทั่วทุกพื้นที่ ต่อเนื่อง เข้าถึงได้ง่าย และไม่คิดค่าใช้จ่าย

ชะลอนโยบายเปิดประเทศป้องกันโอไมครอน

และควรชะลอนโยบายการเปิดประเทศ ขันน็อต จำกัดโควต้า และเน้นเรื่องตรวจมาตรฐาน กักตัว และติดตามให้มีประสิทธิภาพ
ไม่งั้นคงรับมือลำบาก
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลพบว่า การเปิดประเทศได้เริ่มอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของรัฐบาลหลังจากมี 2 ข้อเสนอ ระหว่างการการเปิดประเทศและการล็อกดาวน์ประเทศต่อ 

ซึ่งในที่สุดมีการตัดใจเลือกเปิดประเทศและนำมาสู่การอนุญาตให้ผู้เดินทางมาจาก 63 ประเทศ สามารถเข้าสู่ประเทศไทยแบบไม่ต้องกักตัวเหมือนช่วงที่ผ่านมา แน่นอนว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยที่จะช่วยสร้างแรงส่งให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2565
มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถูกกำหนดให้มีผู้เดินทางดำเนินการตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศไทย เช่น การลงทะเบียน Thailand Pass หมอชนะ โดยผู้เดินทางจะต้องทำประกันภัยที่มีวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์ รวมถึงมีผลตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วยังต้องดำเนินการอีกหลายประเด็นเพื่อควบคุมการระบาด เช่น การเข้าพักในที่พักที่ผ่านมาตรฐาน