10 ข้อสรุป ไวรัสกลายพันธุ์ " โอไมครอน " แพร่เชื้อเร็ว 5 เท่า

29 พ.ย. 2564 | 03:14 น.

10 ข้อสรุป ไวรัสกลายพันธุ์ "โอไมครอน" ความกังวลใหม่เกี่ยวกับโรคโควิด19 นพ.พงศกร เผย โอไมครอนแพร่เชื้อสูงกว่าเดลต้า 5 เท่า คนฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็มแล้วก็ไม่เว้น แนะระมัดระวังตัวเอง เลี่ยงที่ชุมชนสาธารณะหากไม่มีความจำเป็น

29 พ.ย.2564 - เรื่องไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ นาทีนี้ คงไม่มีอะไรฮอตไปกว่าคำว่า ‘โอไมครอน’ อีกแล้ว เนื่องจาก ทำให้ทั่วโลกกำลังตื่นตระหนก

 

ล่าสุด  นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร โรงพยาบาลกรุงเทพ โพสต์ข้อความในบัญชี : Pongsakorn Chindawatana สรุปใจความและความน่ากังวลเกี่ยวกับ ไวรัส "โอไมครอน" คืออะไร และควรป้องกันตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยจากเชื้อดังกล่าว ดังนี้ ...


โอไมครอนคืออะไร ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับมัน ผมจะสรุปให้ฟังครับฟังเพื่อจะได้ตระหนักว่าเกิดอะไรขึ้น แต่อย่าตระหนกจนเกินไป เรื่องราวมีดังนี้ครับ

  1. ปกติการกลายพันธุ์ของไวรัสเกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว เชื้อกลายพันธุ์ตัวไหนที่ไม่แข็งแรงก็หายไปเชื้อกลายพันธุ์ตัวไหนแข็งแรง แข็งแกร่งก็จะทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว อันนี้เป็นเรื่องปกติของไวรัสทั้งหลายในโลกใบนี้
  2. ช่วงวันที่ 21 ถึง 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมามีการค้นพบเชื้อไวรัสโควิดที่มีการกลายพันธุ์แปลกๆเกิดขึ้นที่ประเทศบอตสวานา เรียกช่ือว่า B.1.1.529
  3. จากการศึกษารหัสพันธุกรรมของ B.1.1.529  สร้างความกังวลให้นักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะตัวใหม่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมหลายตำแหน่งเฉพาะที่ spike gene หรือโปรตีนหนามอย่างเดียว ก็พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า 30 จุดแล้ว ยังไม่นับส่วนอื่นๆอีก
  4. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นับว่าน่ากังวลมาก เพราะหมายความว่าหน้าตาของกลายพันธุ์ตัวใหม่เปลี่ยนไปจากเดลต้า เบต้า อัลฟ่า ที่เดิมก็รับมือยากอยู่แล้ว และนั่นแปลความหมายได้ว่า วัคซีนที่ผลิตมาจากไวรัสต้นแบบ อาจป้องกันโอไมครอนไม่ได้ 
  5. องค์การอนามัยโลกเลยจัด B.1.1.529 ให้เป็น VOC หรือ Varient of Concern และถึงวันนี้ ก็ได้ข้อสรุปแน่ชัดว่า น้อง B.1.1.529 อันตรายมากจริงๆ มงก็เลยลงน้องจึงได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า โอไมครอน ซึ่งมาจากอักษรกรีก นับเป็นกลายพันธุ์ตัวที่ 5 ที่ได้ชื่ออย่างเป็นทางการครับ
  6. น้องมาเงียบๆ แต่กวาดเรียบนะจ๊ะ เพราะการกลายพันธุ์ครั้งนี้ แม้ว่าจะเกิดขึ้นเงียบๆ ในพื้นที่ห่างไกล  เพิ่งระบาดได้ไม่นาน แต่การระบาดกระจายตัวไปเร็วมากๆ ตอนนี้กลายมาเป็นสายพันธุ์หลัก ในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าอยู่เดิม แถมคนไข้ที่ติดโอไมครอนหลายราย ก็ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบทั้งสองโดสแล้วคนไข้บางรายมีการป่วยร่วมกับโรคอื่นๆเช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งนี่อาจทำให้ไวรัสมีการ cross ยีนกันส่งผลทำให้โอไมครอนแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมอันนี้ก็เป็นทฤษฎีที่นักวิชาการหลายคนกำลังกังวลอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้น บอกให้เรารู้ว่าโอไมครอนนี่มีความสามารถในการแพร่เชื้อเหนือกว่าเดลต้า ข้อมูลเบื้องต้นจากองค์การอนามัยโลก ณ ตอนนี้ โอไมครอนแพร่ได้เร็วและมากกว่าเดลต้าประมาณ 5 เท่า ส่วนความรุนแรงในการเกิดโรคนั้น ยังไม่มีข้อสรุปครับ 
  7. การที่เราพบการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามจำนวนมาก รวมถึงพบมีการกลายพันธุ์ในส่วนอื่นของสารพันธุกรรม อาจส่งผลให้เกิดการดื้อทั้งวัคซีนและ ยากลุ่ม monoclonal antibody  ขณะนี้บริษัทต่างๆกำลังทดสอบในห้องปฏิบัติการว่าทั้งวัคซีนและยาต้านไวรัสที่ใช้กันอยู่ในเวลานี้ ยังมีประสิทธิภาพดีหรือไม่ อันนี้ต้องคอยคิดตามผลการทดสอบอย่างใกล้ชิดครับ 
  8. ตอนนี้พบโอไมครอนในหลายประเทศแล้ว ทั้งในแอฟริกาและนอกแอฟริกา เช่น ฮ่องกง เบลเยี่ยม และประเทศในยุโรปอีกหลายประเทศ หลายประเทศเริ่มยกระดับการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เพราะถ้าโอไมครอนบุกทะลวงเข้ามาได้นี่คงแย่แน่
  9. กรณีเคสที่ฮ่องกงน่าสนใจมากๆ เพราะมีการตรวจพบโอไมครอนในผู้ป่วยสองรายที่อยู่ระหว่างการกักตัว คนแรกมีประวัติเดินทางกลับมาจากแอฟริกาอย่างชัดเจน ในขณะที่คนป่วยรายที่สองไม่ได้มีประวัติเดินทางไปในประเทศแถบนั้นเลย แต่พักอยู่ห้องตรงข้ามกับคนป่วยรายที่หนึ่ง แสดงให้เห็นว่าโอไมครอนอาจมีการแพร่กระจายในอากาศได้ อันนี้ต้องติดตามกันต่อครับ
  10. แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นเชื้อโอไมครอน เดลต้า เบต้า อัลฟ่า ลำไย แตงโม อะไรก็ตาม สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็วนกลับมายังจุดเริ่มต้น นั่นก็คือเราจะต้องระมัดระวังตัวเองเป็นอย่างดี

 

" รักษามาตรการทางสาธารณสุขลดการพบปะชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่จำเป็นสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆครับ มาตรการเหล่านี้จะสามารถป้องกันตัวเราได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะมีกลายพันธุ์มาอีกกี่ชนิดก็ตาม"