ลอยกระทง 2564 ปภ.บูรณาการป้องกันอุบัติภัยเชิงรุก เช็กเลยมีอะไรบ้าง

17 พ.ย. 2564 | 20:00 น.

ลอยกระทง 2564 ปภ.บูรณาการป้องกันอุบัติภัยเชิงรุก ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมป้องกันอุบัติภัยช่วงวันลอยกระทง เช็กเลยมีอะไรบ้าง

ลอยกระทง 2564 ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2564 หลายจังหวัดมีการจัดงานลอยกระทงตามประเพณี

ปภ.บูรณาการป้องกันอุบัติภัยเชิงรุก 

ลอยกระทง 2564 ปภ.บูรณาการป้องกันอุบัติภัยเชิงรุก เช็กเลยมีอะไรบ้าง

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) บูรณาการจังหวัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมป้องกันอุบัติภัยในช่วงวันลอยกระทง ทั้งการเข้มงวดการผลิต จัดเก็บและจำหน่ายพลุ และดอกไม้เพลิง การตรวจตราสถานที่จัดงานลอยกระทง โป๊ะ ท่าเทียบเรือ และเรือโดยสาร ให้มีความปลอดภัย 

การจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ช่วยชีวิตทั้งทางบก ทางน้ำ และไฟฟ้าส่องสว่าง รวมถึงจัดหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนได้ทันที การสนกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยและดูแลความปลอดภัยของประชาชน ควบคู่กับการดำเนินตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 

วันที่ 19 พ.ย.64 ตรงกับวันลอยกระทง หลายจังหวัดมีการจัดงานลอยกระทงตามประเพณีบริเวณพื้นที่ริมน้ำ โป๊ะ ท่าเทียบเรือ ซึ่งประชาชนจำนวนมากเดินทางไปร่วมงานลอยกระทง อาจทำให้ได้รับอันตรายจากอุบัติภัยทางน้ำ และอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงมีการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง และปล่อยโคมลอย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีข้อสั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเตรียมพร้อมป้องกันอุบัติภัยและอุบัติเหตุทางถนนนในช่วงวันลอยกระทง ดังนี้ 

  • การป้องกันอุบัติภัยจากพลุ ดอกไม้เพลิง โดยเข้มงวดการออกใบอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาตให้ผลิต สั่ง นำเข้า และจำหน่ายพลุ ดอกไม้เพลิง 
  • การป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ โดยตรวจสอบสถานที่จัดงานลอยกระทง โป๊ะ ท่าเทียบเรือ และเรือโดยสาร ให้อยู่ในสภาพปลอดภัย 
  • การดูแลด้านความปลอดภัย โดยจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ช่วยชีวิตทั้งทางบก ทางน้ำ และไฟฟ้าส่องสว่าง รวมถึงจัดหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนได้ทันที 


สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ ทั้งสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน(อส.) และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และกรมเจ้าท่าในการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัย ตรวจสอบความปลอดภัยและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของสถานที่จัดงานลอยกระทง จัดระเบียบและอำนวยความสะดวกในการสัญจร
ทางน้ำและทางบก 

สำหรับพื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และวาตภัย ให้เข้มงวดดูแลสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่จัดงานลอยกระทงให้มีความมั่นคงแข็งแรง ส่วนพื้นที่ที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยให้แจ้งเตือนประชาชนเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ พร้อมดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานที่จัดงาน สร้างการรับรู้แก่ประชาชนในการป้องกันอันตรายจากอุบัติภัยจากพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง การปล่อยโคมลอย โคมควัน รวมถึงให้ข้อมูลแนวทางการปฏิบัติ ข้อกฎหมาย และมาตรการความปลอดภัยที่ภาครัฐกำหนด ตลอดจนเชิญชวนประชาชนกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่จัดงานลอยกระทง แหล่งน้ำ เพื่อรักษาระบบนิเวศและลดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทั้งนี้ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของเทศกาลวันลอยกระทงให้อยู่คู่สังคมไทยบนพื้นฐานของความปลอดภัย

ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM