เช็คด่วน พื้นที่ภาคใต้ เสี่ยงดินถล่ม-น้ำล้นตลิ่ง 11-15 พ.ย.นี้

11 พ.ย. 2564 | 06:35 น.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศเฝ้าระวังพื้นที่ภาคใต้ เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม-น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ-น้ำล้นตลิ่ง ระหว่างวันที่ 11-15 พ.ย.นี้

11 พฤศจิกายน 2564 จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ ล่าสุด กองอำนวยการน้ำ ออกประกาศฉบับที่ 29/2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศ ฉบับที่ 5 (187/2564) ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

คาดการณ์ในช่วงวันที่ 10 - 13 พฤศจิกายน 2564 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ มีกำลังแรงทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักมากบางแห่ง

ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศแจ้งเตือนฉบับที่ 27/2564 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 แล้วนั้น

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ประกอบกับพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องจึงขอเน้นย้ำให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 11 – 15 พฤศจิกายน 2564 ดังนี้

1.เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากบริเวณที่ลาดเชิงเขา

  • บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

2.เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ

  • บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ระนอง กระบี่ ภูเก็ต และตรัง 

3.เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำ

  • บริเวณแม่น้ำตาปี อำเภอพระแสง อำเภอเวียงสระ อำเภอเคียนซา และอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • บริเวณคลองท่าดี อำเภอลานสกา อำเภอพระพรหม และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และคลองชะอวด ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ทะเลสาบสงขลา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา แม่น้ำปัตตานี อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา และอำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี และแม่น้ำโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1.ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ

2.ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ ให้สอดคล้องกับการขึ้น - ลงของระดับน้ำทะเล รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก

3.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำและติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อม รับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

5.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
 

เช็คด่วน พื้นที่ภาคใต้ เสี่ยงดินถล่ม-น้ำล้นตลิ่ง 11-15 พ.ย.นี้