ประกันรายได้ข้าว เริ่มจ่ายวันที่ 9 พ.ย. เช็คช่องทางตรวจสอบที่นี่

07 พ.ย. 2564 | 08:24 น.

เกาะติดมาตรการเยียวยา "ประกันรายได้ข้าว" ธ.ก.ส.เตรียมจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/2565 วันแรก 9 พ.ย.นี้ ตรวจสอบช่องทางเช็คสถานะ- การโอนเงิน และเงินส่วนต่างทั้งหมดที่นี่

ตามที่คณะกรรมการ ธ.ก.ส.ได้ประชุมเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพาณิชย์ เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 วงเงินรวม 13,225 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และอุทกภัย โดยที่กลไกตลาดยังคงทำงานเป็นปกติ และประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่ 

 

  1. ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน 
  2. ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน 
  3. ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน 
  4. ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน 
  5. ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน 
     

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะเริ่มจ่ายเงินประกันรายได้รอบแรก ในวันที่  9 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 492,571 ครัวเรือน เป็นเงิน 10,920 ล้านบาท

 

เกษตรกรสามารถตรวจสอบช่องทางสถานะเกษตรกร-การโอนเงินต่างๆได้ดังนี้ 

  • เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกรและสมาชิกครัวเรือน (เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรเท่านั้น ซึ่งการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ ขึ้นอยู่กับบทบาทและภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ) โดยสามารถคลิกที่นี่ 

 

  • สามารถตรวจสอบผลการรับการสนับสนุนตามโครงการรัฐ ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยคลิกที่นี่   

 

  • นอกจากนั้นแล้วยังสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect
     

หลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้-รับเงินภายในกี่วัน 

  • เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิชดเชย  โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำแนกตามช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวและคำนวณปริมาณผลผลิต โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิดคูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชย แต่ต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ข้างต้น ส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นข้อมูลในการจ่ายเงิน จากนั้น ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบจากคณะอนุกรรมการฯ 

 

มาตรการคู่ขนานช่วยเกษตรกร

นอกเหนือจากการประกันรายได้ข้าวแล้ว ยังมีเตรียมมาตรการคู่ขนานเพื่อชะลอการขายในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก  ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาข้าว ประกอบด้วย 


โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี

  • ที่ความชื้นไม่เกิน 15% สิ่งเจือปนไม่เกิน 2% เป้าหมาย 2 ล้านตัน  วงเงินสินเชื่อ 20,402 ล้านบาท 
  • กำหนดราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท 
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต ตันละ 9,500 บาท
  • ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท 
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท 
  • ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 8,600 บาท 
  • พร้อมช่วยเหลือค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท 

โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

  • เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท
  • เพื่อให้สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชนรวบรวมข้าวเปลือกสำหรับการจำหน่ายหรือเพื่อการแปรรูป