ธ.ค. - ก.พ. 65 เข้าสู่ฤดูหนาว กทม.เตือน เตรียมรับมือ "ฝุ่น PM2.5"

03 พ.ย. 2564 | 03:22 น.

ผู้ว่า กทม. เตือน ฝุ่น PM 2.5 มาช่วง เดือน ธ.ค. - ก.พ. หลังเข้าสู่ฤดูหนาว ลมสงบ สั่งหน่วยเกี่ยวข้อง เตรียมรับมือ ควบคุมมลพิษทางอากาศ ขณะ ปชช. ตรวจสอบคุณภาพอากาศ ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ เว็บไซต์ www.air4bangkok.com ได้ด้วยตนเอง

3 พ.ย.2564 - กทม.เตือน ฝุ่น PM 2.5 ช่วงฤดูหนาว ธ.ค.-ก.พ.นี้ โดยพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ในช่วงหน้าหนาวของทุกปีระหว่างเดือน ธ.ค.-ก.พ. ใน กทม.มีโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มักจะเกินค่ามาตรฐานในเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งในปีที่ผ่านมา กทม.เริ่มเกิด สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน เริ่มตั้งแต่เดือน ธ.ค.63 

ธ.ค. - ก.พ. 65 เข้าสู่ฤดูหนาว กทม.เตือน เตรียมรับมือ "ฝุ่น PM2.5"

สาเหตุจากมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมามีกำลังอ่อนลง ทำให้เกิดลมอ่อนหรือลมสงบ และลมที่พัดมาจะนำฝุ่นละอองจากการเผาในที่โล่งจากภาคกลางและประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาทางด้านตะวันออกของ กทม. ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม.สะสมสูงขึ้น

ทั้งนี้ กทม.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงใกล้หน้าหนาวที่กำลังจะถึงนี้ โดย กทม.มีสถานีตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 แบบถาวร ทั้งสิ้น 70 จุดทั่ว กทม. บริเวณริมถนนที่มีการจราจรหนาแน่น ในพื้นที่พักอาศัย และบริเวณสวนสาธารณะ 

 

ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงที่ไม่มีสถานีตรวจวัดฝุ่น PM2.5 กทม. มีเครื่องตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 แบบติดตั้งนอกอาคาร และรถตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อเข้าไปวัดปริมาณฝุ่นในทุกพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM2.5หากพบว่ามีพื้นที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน กทม.จะลดฝุ่นละอองในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการควบคุมมลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน 

 

เว็บไซต์ ตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครแบบ Real Time

ฝุ่น pm 2.5 เกิดจากอะไร

ทั้งนี้ สสส. เคยเปิดเผยข้อมูลว่า PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือเทียบให้เห็นภาพคือมีขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ สามารถแพร่กระจายสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมกระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ เพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรัง

 

PM2.5 อันตรายแค่ไหน ?

องค์กรอนามัยโลกกำหนดให้ PM2.5 อยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2556 เป็นสาเหตุ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง ,โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ,โรคมะเร็งปอด ,โรคหัวใจขาดเลือด ,โรคติดเชื้อเฉียบพลัน ในระบบหายใจส่วนล่าง

 

PM2.5 มาจากไหน ?

  1. สภาพอากาศเปลี่ยน ทำให้อากาศนิ่ง ลมน้อย ฝุ่นสะสมตัวได้มาก
  2. ฝุ่นจากการจราจร เขม่าไอเสียรถยนต์
  3. ฝุ่นจากงานก่อสร้าง ทั้งรถไฟฟ้า อุโมงค์ คอนโดมิเนียม ฯลฯ
  4. ฝุ่นจากการเผาในที่โล่งแจ้ง เช่น เผาหญ้า
  5. ฝุ่นจากการผลิตโดยภาคอุตสาหกรรม

 

วิธีป้องกันตัวจากฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 เลี่ยง – ลด การทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 

 

ข้อมูล : สสส.