ย้อนไทม์ไลน์ 3 ปี PM2.5 การกู้วิกฤติที่ทำได้แค่ ผักชีโรยหน้า ?

27 ต.ค. 2564 | 02:34 น.

ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ยากจะป้องกันและแก้ไขให้สูญหายไป แต่ภัยที่เกิดจากธรรมชาติอาจกิดจากการที่มนุษย์เราเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดภัยดังกล่าว และมันมักจะวนกลับมาสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งคนทุกคนต้องเฝ้าระวังเรื่องดังกล่าวกันอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย (ปลายเดือนตุลาคม 2564-เดือนกุมภาพันธ์ 2565) ว่าในช่วงประมาณปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนธันวาคม 2564 สภาพอากาศในประเทศไทยนิ่ง การกระจายตัวของฝุ่นละอองไม่ดีอาจมีโอกาสสะสมในพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งอาจส่งผลให้ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในช่วงเวลาดังกล่าว 
 

* PM ย่อมาจากคำว่า “particulate matter” หมายถึง ฝุ่นละออง ส่วน PM2.5 หมายถึง ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมของมนุษย์ ทำให้ขนจมูกหรือหน้ากากอนามัยโดยทั่วไปไม่สามารถกรองได้
 

* ตัวอย่างสารพิษที่ปะปนอยู่ใน PM2.5 ได้แก่

P-A-Hs เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากท่อไอเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ ทำให้เป็นมะเร็ง
 

ปรอท เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันและถ่านหิน สามารถระเหยเป็นไอ ทำลายระบบประสาท ทำให้เป็นอัมพาต มะเร็ง จนถึงเกิดความผิดปรกติทางพันธุกรรม ทำร้ายทั้งคนและสัตว์โดยเฉพาะเด็กที่กำลังโต
 

สารหนู เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม การทำเหมือง การทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยาฆ่าแมลง ทำให้เกิดโรคผิวหนัง ทำให้รู้สึกมึน ตัวชา อยากอาเจียน เข้าสู่ระบบประสาท และทำอันตรายต่อปอด
 

แคดเมียม เป็นโลหะหนัก เกิดจากการทำอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เหมืองแร่ สังกะสี ทองแดง และตะกั่ว ทำร้ายส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผิวหนัง ปอด ทางเดินอาหาร กระดูก
 

* ค่า “ดัชนีคุณภาพอากาศ” (AQI : Air Quality Index) เป็นตัวเลขที่ใช้รายงานคุณภาพอากาศเพื่อให้ประชาชนรู้ว่าอากาศสะอาดหรือสกปรกเพียงใด
 

หากย้อนไป
 

ในปี 2548 องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ออกข้อแนะนำในการกำหนดเป้าหมายของเพานค่ามาตรฐานเฉลี่ย 1 ปี ต่อกรณี PM2.5 เป็น 4 ระดับ ได้แก่ 35, 25, 15 และ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศที่จะนำไปปฏิบัติ จนกระทั่ง ในปี 2553 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ดำเนินการตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยกำหนดค่า PM2.5 เฉลี่ย 1 ปี ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเริ่มติดตั้งเครื่องมือตรวจวัด PM2.5 ในปีต่อมา จนปลายปี 2560 เรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยอีกต่อไป จนกระทั่ง
 

พฤศจิกายน 2561 กรมควบคุมมลพิษเปิดเผยถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินมาตรฐานสูงกว่า 90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล
 

พฤศจิกายน 2561 กรมควบคุมมลพิษประกาศมาตรการระยะสั้นและระยะยาวแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน โดยสั่งเฝ้าระวังในช่วงเดือน ธันวาคม 2561 – เมษายน 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศนิ่งสงบ พร้อมแจ้งเตือนตามระดับสี เหลือง ส้ม แดง หากค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
 

ธันวาคม 2561 โซเชียลมีเดียแห่แชร์ ภาพหมอกหนาปกคลุมที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ย่านลาดกระบัง ทำให้หลายคนสงสัยว่าเป็นหมอกหรือควันกันแน่
 

ธันวาคม 2561 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยอมรับ ปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานจริง ส่วนหนึ่งเกิดจากโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่, การปรับปรุงถนน, การก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่พักอาศัย รวมไปถึงควันจากท่อไอเสียเครื่องยนต์ในย่านที่มีการจราจรหนาแน่นมากๆในบางช่วงเวลา ประกอบกับตอนนี้เป็นฤดูแล้งสภาพอากาศแห้ง พร้อมมอบหมายให้ 50 เขตทั่ว กทม.ล้างทำความสะอาดถนน ฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นอย่าง โดยเฉพาะใต้สถานีรถไฟฟ้า

ธันวาคม 2561 สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กเริ่มรุนแรงขึ้น โดยพื้นที่เกือบ 20 จุดปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานระหว่าง 65-103 ไมโครกรัม-ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีพื้นที่ที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ อาทิ ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน, แขวงบางนา เขตบางนา, แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ, ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน, ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี, ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง และ อำเภอเมืองนครปฐม
 

ธันวาคม 2561 แพทย์เตือนประชาชนพื้นที่เสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรให้ใส่หน้ากากN95 โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคประจำตัว ทำให้ ”หน้ากาก N95" ขาดตลาดไปชั่วคราว 
 

ธันวาคม 2561 นายกรัฐมนตรีห่วงสุขภาพประชาชน สั่งเร่งแก้ฝุ่นเกินมาตรฐานโดยด่วน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข แนะ 5 มาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคหัวใจเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นละออง
 

ธันวาคม 2561 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ กทม.ขอความร่วมมือประชาชนและผู้ประกอบการห้ามใช้รถยนต์ที่มีควันดำ งดการเผาในที่โล่งทุกประเภท และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
 

6 ม.ค. 62 กรบควบคุมมลพิษเผย ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกินค่ามาตรฐานกว่า 30 จุด และพบว่าในพื้นที่ปริมณฑล ปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ที่ นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร รวมถึงบริเวณริมถนนคู่ขนานพระราม 2
 

21 ม.ค. 62 สถานการณ์ฝุ่นจิ๋วกลับมารุนแรงอีกครั้ง เมื่อพื้นที่เกือบ 40 จุด ยังอยู่ในระดับที่เฝ้าระวังที่อาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ หลังสภาพอากาศปิดและอากาศลอยตัวไม่ดี
 

28 ม.ค. 62 นายกรัฐมนตรีสั่งห้ามชาวบ้านเผาไร่นาเพราะผิดกฎหมายและสร้างฝุ่นละอองขนาดเล็ก
 

30 ม.ค. 62 กทม.ประกาศพื้นที่ 50 เขตเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษทางอากาศ พร้อมสั่งปิดโรงเรียนทั่ว กทม. 437 แห่ง จนถึงวันที่ 1 ก.พ. 62 เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง
 

31 ม.ค. 62 เจ้าหน้าที่ส่งโดรนบินพ่นน้ำดับจับฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศในพื้นที่ 6 จุดของกทม.
 

12 ก.พ. 62 รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ได้มีการประกาศให้ ‘การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง’ เป็นวาระแห่งชาติ 
 

12 มี.ค. 62 ประเทศไทยประสบวิกฤติค่า PM2.5 พุ่งสูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะบริเวณ จ. เชียงใหม่ ตามดัชนีคุณภาพอากาศ US AQI สูง 271 โดยมีค่า PM 2.5 อยู่ที่ประมาณ 170 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 
 

12 มี.ค. 62 ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ แจงสาเหตุหมอกควันสูงขึ้น เกิดจากลมที่พัดสู่ภาคเหนือมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับหมอกควันที่มาจากด้านใต้ของจังหวัดที่มาจากต่างพื้นที่และหมอกควันจากแนวชายแดน และการลักลอบเผาป่า สั่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาปัญหา พ่นละอองน้ำจากเขตต่าง ๆ ในเขตชุมชน และพ่นละอองน้ำจากตึกสูง 
 

3 เม.ย. 62 ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบนได้ขึ้นบินทำฝนหลวงประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดฝนตกโดยรอบของอำเภอเมืองในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์ลงมาได้
 

1 ต.ค. 62 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ“การแก้ไข ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” 3 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1 : การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและในช่วงวิกฤต) แผนเผชิญเหตุ/มาตรการตอบโต้สถานการณ์4 ระดับ ดังนี้ 

- ระดับที่ 1 : PM2.5 ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. หน่วยงานดำเนินภารกิจตามสภาวะปกติ 
- ระดับที่ 2 : PM2.5 ระหว่าง 51- 75 มคก./ลบ.ม. ทุกหน่วยงานดำเนินมาตรการให้เข้มงวดขึ้น 
- ระดับที่ 3 : PM2.5 ระหว่าง 76 -100 มคก./ลบ.ม. ผู้ว่าราชการกทม./จังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยใช้อำนาจ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมพื้นที่ ควบคุมแหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ 
- ระดับที่ 4 : PM2.5 มากกว่า 100 มคก./ลบ.ม. เสนอให้ประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง (กก.คพ. กก.วล) เพื่อเสนอ มาตรการให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ
 

มาตรการที่ 2 : การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง(แหล่งกำเนิด)การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น และระยะยาวจากยานพาหนะ การเผาในที่โล่ง/ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การก่อสร้างและผังเมือง และภาคครัวเรือน
 

มาตรการที่ 3 : การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น และระยะยาว พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ทบทวน/ปรับปรุงกฎหมาย/มาตรฐาน/แนวทางปฏิบัติและพัฒนาระบบ ฐานข้อมูล/ระบบคาดการณ์ เป็นต้น
 

ด้านนโยบายที่หน่วยงานภาครัฐพยายามจะนำมาแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เบื้องต้นคงหนีไม่พ้น “ฉีดนำลดฝุ่น” ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์และเกิดกระแสต่อต้านบนโลกอินเตอร์เน็ตมาหลายปี ในส่วนนโยบายระยะกลางและระยะยาว คือการแก้ปัญหาต้นทางหนึ่งที่เป็นปัจจัยหลักๆ ต่อการเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างการใช้รถยนตร์ที่มีระบบการเผาไหม้ด้วยน้ำมันดีเซล ปรับลดอายุรถที่จะเข้ารับการตรวจสภาพประจำปี อีกทั้งการใช้มาตรการจูงใจให้ผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาควันดำ
 

สำหรับข้อมูลการติดตามตรวจวัด PM2.5 ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศแบบ Real Time ได้ที่เว็บไซต์ Air4Thai.com แอปพลิเคชั่น Air4Thai และ bangkokairquality.com
 

เรื่องวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ในสังคมแต่อย่างใด ฝุ่นละอองกลับอยู่คู่กับคนกรุงเทพฯ และคนไทยหลายพื้นที่ อีกทั้งเราต่างเดินสูดดมเข้าไปมาหลายปี เพียงแต่ว่าก่อนหน้านั้นเรื่อง PM2.5 ไม่ได้เป็นกระแสตื่นตัวเหมือนทุกวันนี้เท่านั้นเอง